โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม ประจำเดือนมิถุนายน เรื่อง “เทคโนโลยีการสื่อสาร และการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและสังคม”

ในวันที่ 24 มิถุนายน เวลา 14.00-15.30 น. คณะอักษรศาสตร์ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อเรื่อง “เทคโนโลยีการสื่อสาร และการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและสังคม” โดย อาจารย์ ดร.คุณยา วิมุกตานนท์ ประธานหลักสูตรอักษรศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (BALAC) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ ผศ.ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

แรกเริ่มอาจารย์ได้กล่าวถึงแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยภาพรวมก่อน อ้างอิงจากคำนิยามของ Brian Arthur ว่า เทคโนโลยี คือ วิธีการในการบรรลุวัตถุประสงค์ของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม ส่วนเทคโนโลยีการสื่อสาร ก็คือ วิธีการที่คนใช้ส่งและรับข้อมูลของมนุษย์ ซึ่งสิ่งที่ต้องมาควบคู่กับเทคโนโลยีการสื่อสาร คือ เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล เช่น การพิมพ์ การเขียน เพราะในกระบวนการสื่อสารเกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองอาจทำให้สารนั้นๆ ถูกบิดเบือนหรือหายไป ดังนั้น เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลจึงมีความสำคัญต่อกระบวนการสื่อสารข้อมูลอย่างยิ่ง นอกจากนี้ อาจารย์ยังได้มีการเล่าถึงประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลที่มีตั้งแต่อดีต เช่น การเขียนคัดลอก การพิมพ์ มาจนถึงยุคปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งอินเทอร์เน็ต จะเห็นได้จากช่วงศตวรรษที่ 20 ที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดประกอบกับการที่อินเทอร์เน็ตมีความแพร่หลายจนทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลและสื่อสารระหว่างกันได้ง่ายมากขึ้น

ปัจจุบัน พัฒนาการของเทคโนโลยีทางการสื่อสารนั้นแน่นอนว่าส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนใช้คอมพิวเตอร์ลดลงและหันไปใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นว่าจากเดิมที่เราต้องเป็นฝ่ายเข้าหาข้อมูล กลับกลายเป็นว่าข้อมูลเป็นฝ่ายวิ่งหาเราเอง นอกจากนี้ ความเร็วและความหลากหลายของข้อมูลก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เทคโนโลยีสมัยปัจจุบันทำให้ข้อมูลเดินทางได้เร็วขึ้น ส่งผลให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเปิดบทบาทให้กับปุถุชนธรรมดาให้มีอำนาจทางการสื่อสารเทียบเท่ากับองค์กรหรือภาครัฐ เช่น การเผยแพร่ข่าวสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เอกลักษณ์ (identity) หรือบทบาทที่มนุษย์เราได้รับจากสังคม เช่น นักเรียน ครู แม่ พนักงานบริษัท กลับไม่เพียงพออีกต่อไป เนื่องจากบทบาทเหล่านี้เปลี่ยนแปลงช้า ต่างจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีในการสื่อสาร อีกทั้งเรายังมีช่องทางในการรับรู้ข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของเราก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ผู้คนไม่ได้บริโภควัตถุเพื่อจุดประสงค์การใช้งานของมันเพียงอย่างเดียว แต่กลับบริโภคความหมายที่แฝงมากับสินค้าเหล่านั้นด้วย เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาประกอบสร้างเอกลักษณ์ส่วนตัวของเราเอง ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีการสื่อสารก็ส่งผลโดยตรงกับการประกอบสร้างเอกลักษณ์ของมนุษย์ในยุคปัจจุบันเช่นกัน

นอกจากนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกอีกด้วย กลายเป็น สังคมโลกแบบเครือข่าย เช่น Information Economy, Network Enterprise หรือ Flexi-workers ซึ่งอาจารย์ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการแบ่งขั้วและการกีดกันทางสังคม จนทำให้เกิดความเป็นปัจเจกของแรงงาน ส่งผลให้สหภาพแรงงานมีความอ่อนตัวลง เกิดเป็นความไม่เท่าเทียมกัน ในสังคม นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

สุดท้ายนี้ อาจารย์ได้กล่าวถึง  แนวคิดสากลนิยม หรือ แนวคิดภาวะพลเมืองโลก ที่คือ การรับรู้ถึงความเสี่ยงต่อโลกในปัจจุบันเป็นที่แพร่หลายและมีมานาวนานจนทำให้เกิดความรู้สกถึงชะตากรรมร่วมกันในหมู่ประชาชนทั่วโลก เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่มนุษยชาติควรที่จะรับผิดชอบร่วมกัน หรือที่เรียกว่า  World Risk Society จากการรับรู้ร่วมกันผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้คนทั่วโลกเริ่มหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น 

โครงการวิจัยเรื่อง ความเป็นไทยและสังคมเครือข่าย: การศึกษาถึงผลกระทบของเครือข่ายออนไลน์ที่มีต่อการนิยามความเป็นไทยของคนกรุงเทพ ศึกษาเพิ่มเติม ผ่านเว็บไซต์ www.kunnaya.com

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านการรับฟังและรับชมคลิปกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านลิงก์ของ Facebook Live ที่นี่

ภาพบรรยากาศการบรรยาย

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง