โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 เรื่อง “ภาวะโพสต์ฮิวแมนในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ร่วมสมัย”

ในวันที่ 28 พฤษภาคม เวลา 14.00-15.30 น. คณะอักษรศาสตร์ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อเรื่อง “ภาวะโพสต์ฮิวแมนในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ร่วมสมัย” โดย อ.ดร.ณัชพล บุญประเสริฐกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ ผศ.ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ 

เริ่มการบรรยาย อาจารย์ณัชพลได้กล่าวถึงแนวคิดงานวิจัยของอาจารย์เอง ภาวะโพสต์ฮิวแมนในครสต์ศตวรรษที่ 21: ร่างกาย สื่อใหม่และการบริโภค ในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์หลัง ค.ศ. 2000 เนื่องจากในระดับปริญญาตรีอาจารย์จบการศึกษาจากภาควิชาฟิสิกส์ แล้วจึงศึกษาต่อทางด้านวรรณคดีเพราะความสนใจของตนเองที่มีต่อศาสตร์ทั้งสองแขนง จึงได้นำศาสตร์ทั้งสองแขนงมาศึกษาร่วมกันผ่านงานรูปแบบ “บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์”

บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ (Science Fiction) เป็นการนำเสนอเรื่องราวจากข้อเท็จจริง ข้อสันนิษฐานหรือข้อสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนสามารถแต่งเติมเสริมจินตนาการจากทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์ขึ้นผ่านวรรณกรรม เป็นเสมือนพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้มีการทดลองจากจินตนาการของผู้เขียนเอง เช่น การผจญภัยในโลกอนาคต เรื่องที่เกิดบนดาวเคราะห์อื่นๆ ตัวอย่างผลงานรูปแบบภาพยนตร์ เช่น AvatarThe Day After Tomorrow

บทบาทของวิทยาศาสตร์ในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นแค่ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์บริสุทธ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีต่างๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน เช่น ทางการแพทย์ อุตสาหกรรม มีการยกตัวอย่างผลงานทางบันเทิงคดีวิทยาศาสตร์ที่มีการสร้างสรรค์ผ่านการประกอบรวมขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลากหลายด้าน เช่น Frankenstein ที่เล่าถึงผลกระทบของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อมนุษย์ The Time Machine(1865) โดย H.G. Wells เสนอการประดิษฐ์เครื่องจักรเพื่อเดินทางข้ามเวลาเพื่อนำเสนอวิวัฒนาการของมนุษย์ตามทฤษฎีของชาลส์ ดาร์วิน นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างผลงานบันเทิงคดีวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่วงยุคทอง (1930s) ช่วงกลุ่มคลื่นลูกใหม่ (1960s) ช่วงกลุ่มไซเบอร์พังก์ (1980s) ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย

จนมาถึงช่วงยุคปัจจุบัน บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ในคริสต์ศรวรรษที่ 21 เป็นช่วงเวลาของการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่คือ ความสำเร็จในการสร้างแผนที่พันธุกรรมมนุษย์ พัฒนาการทางเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมที่ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ก็ส่งผลต่องานวิวัฒนาการของงานบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์อย่างมาก จากที่เห็นว่าจะมีแนวคิดดังกล่าวปรากฏอยู่อย่างแพร่หลาย ทั้งการเล่าเรื่องยังกลับเข้าสู่โลกปัจจุบันมากขึ้น มีความร่วมสมัยมากขึ้น และมีการสะท้อนผลกระทบของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ภาวะโพสต์ฮิวแมน ภาวะที่เกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เข้ากับชีวิตมนุษย์ จนเกิดเป็นการตั้งคำถาม เช่น มนุษย์คือ การนิยามความเป็นมนุษย์กลายเป็นการกีดกันแนวความคิดแบบอื่นที่มนุษย์สร้างอื่นหรือเปล่า พร้อมทั้งยกตัวอย่างงานบันเทิงคดีที่มีการตีแผ่ประเด็นต่างๆ เช่น Rainbows End (2006), Zendegi (2010) นอกจากนี้ ยังมีภาวะโพสต์ฮิวแมนที่เกิดขึ้นในอีกหลายๆ มุมมอง เช่น โพสต์ฮิวแมนกับสื่อใหม่ กับการบริโภคข้อมูล ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลแล้วนั้นต่างนำเสนอขีดจำกัดบางด้านของเทคโนโลยี และผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านการรับฟังและรับชมคลิปกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านลิงก์ของ Facebook Live ที่นี่

งานวิจัย (2558): ภาวะโพสต์ฮิวแมนในครสต์ศตวรรษที่ 21: ร่างกาย สื่อใหม่และการบริโภค ในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์หลัง ค.ศ. 2000 

ภาพบรรยากาศการบรรยาย

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง