โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม ประจำเดือนกรกฎาคม เรื่อง “จากตัวบทวรรณกรรมสู่ภาพยนตร์และสื่อสมัยใหม่”

ในวันที่ 22 กรกฎาคม เวลา 14.00-15.30 น. คณะอักษรศาสตร์ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อเรื่อง “จากตัวบทวรรณกรรมสู่ภาพยนตร์และสื่อสมัยใหม่” โดย ดร.ชื่นสุมน ธรรมนิตยกุล จากภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ ผศ.ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

อาจารย์ชื่นสมุนเริ่มการบรรยายโดยการกล่าวถึงคำนิยามของ การดัดแปลง (Adaptation) ในบริบทวรรณกรรมศึกษา ไว้ว่า คือ “การแปลงงานวรรณกรรมประเภทหนึ่งให้เป็นอีกประเภทหนึ่ง” ซึ่งคำนิยามที่อิงตามราชบัณฑิตสถานนี้สะท้อนให้เห็นเห็นถึงแนวคิดของคนสมัยก่อนที่เชิดชูงานวรรณกรรมต้นฉบับให้เหนือจากงานวรรณกรรมดัดแปลงประเภทอื่นๆ เช่น สื่อภาพยนตร์ บทโทรทัศน์ วิดีโอเกม ของเล่น เลโก้ ไปจนถึงดิสนีย์แลนด์

ต่อมาอาจารย์จึงเริ่มเล่าถึงความเป็นมาของภาพยนตร์ ที่ถือเกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1879 ตัวอย่างหนังที่ถูกฉายในภาพยนตร์เรื่องแรกของโลก เช่น “คนงานเดินออกจากโรงงานลูมิแอร์ในเมืองลียง” “รถไปเข้าเทียบจอดที่ชานชาลา” และยังอ้างถึงบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในวงการงานภาพยนตร์ เช่น Eadweard Muybridge, Thomas Alva Edison, พี่น้อง Lumiere ผู้ที่คิดค้นเครื่องถ่ายหนังและเครื่องฉายหนังคนแรกของโลก ซึ่งอาจารย์ได้กล่าวเสริมว่าเนื่องจากภาพยนตร์นั้นแต่แรกไม่ได้มีจุดประสงค์ในการสร้างขึ้นเพื่อจรรโลงใจเหมือนงานวรรณกรรม ทำให้ผู้คนในสมัยนั้นมองว่างานวรรณกรรมดัดแปลงอย่างเช่น ภาพยนตร์ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าน้อยกว่างานต้นฉบับ หล่อหลอมให้เกิดแนวคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำในงานวรรณกรรมดัดแปลงเรื่อยมา

3 สิ่งที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของการดัดแปลง ได้แก่ 1) การเคารพต้นฉบับ (Fidelity) 2) วิวัฒนาการ (Evolution) และ 3) สหบท (Intertextuality) และอาจารย์ยังได้กล่าวถึงวิธีการของการดัดแปลง ซึ่งมีทั้งหมด 3  รูปแบบ ได้แก่ การบอกเล่า (telling) เช่น วรรณกรรมดัดแปลงเป็นนิทานก่อนนอน หนังสือนอกเวลา การแสดง (showing) นิยายดัดแปลงเป็นละครเวที และปฏิสัมพันธ์ (interacting) เช่น วิดีโอเกมส์ สวนสนุก เพื่อให้ผู้รับสื่อได้มีส่วนร่วมในงานดัดแปลงนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

ถัดมา อาจารย์จึงยกตัวอย่างผลงานที่ได้รับการดัดแปลงจากวรรณกรรมโบราณไม่ว่าจะเป็น Willian Shakespeare เรื่อง Romeo and Juliet ที่ถูกดัดแปลงให้มาแสดงผ่านการสนทนาของตัวละครบนแพลตฟอร์ม Twitter หรือจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง Hamlet ที่นำแสดงโดย Asta Nielsen ที่ทำให้มีผู้ศึกษาต่อและตีความในแง่มุมของจิตวิทยา และมากกว่านั้นงานภาพยนตร์ดัดแปลงชิ้นนี้ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อวงการแฟชั่นในยุคสมัยนั้น มีการเลียนแบบการแต่งตัวตามสไตล์ของตัวละครหลักใน Hemlet ซึ่งช่วยสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคอดีต หรือจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง Pride and Prejudice & Zombies, เกมกระดาน (Board game) และวิดีโอเกม ที่ถูกดัดแปลงมาจาก Pride and Prejudice และการดัดแปลงตัวบทของ Virginia Woolf ให้กลายเป็นแฟชั่นโชว์ของ Fendi ในชุด Spring 2021 Couture ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ทำให้เห็นว่างานวรรณกรรมดัดแปลงก็มีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันไป สอดคล้องและสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในช่วงต่างๆ และที่สำคัญงานดัดแปลงก็ล้วนมีคุณค่าในตัวเองเช่นกัน

อาจารย์ทิ้งท้ายไว้ว่าการที่เราต้องเคารพต้นฉบับนั้นเป็นการที่เราไม่ได้มองว่างานวรรณกรรมดัดแปลงก็เป็นงานศิลปะอีกแขนงนึง แต่กลับให้ความสำคัญของต้นแบบเหนือกว่างานดัดแปลง ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวก็เริ่มที่จะถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว อีกทั้ง ศาสตร์ของงานศิลปะดัดแปลงก็ยังนับได้ว่าเป็นศาสตร์สมัยใหม่ที่ยังต้องมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ตัวอาจารย์เองในฐานะของผู้สร้างและผู้รับสื่อ ก็จะคอยติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการศิลปะต่อไป

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านการรับฟังและรับชมคลิปกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านลิงก์ของ Facebook Live ที่นี่

ภาพบรรยากาศการบรรยาย

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง