โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม ประจำเดือนกันยายน เรื่อง “การส่งเสริมการส่งออก K-Pop และ K-Drama ในช่วงโควิด-19”

ในวันที่ 20 กันยายน เวลา 14.00-15.30 น. คณะอักษรศาสตร์ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อเรื่อง “การส่งเสริมการส่งออก K-Pop และ K-Drama ในช่วงโควิด-19” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมล บุษบรรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกาหลี ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

แรกเริ่มการบรรยายอาจารย์กมลได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่มีต่อไอดอลท่านหนึ่งที่โด่งดังอย่างมากในวงการเกาหลีและต่างประเทศ ซึ่งก็คือ ลลิษา มโนบาล หรือที่หลายท่านคุ้นหูกันในบทบาทของ “ลิซ่า” ไอดอลสาวจากวง Blankpink ซึ่งในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมาได้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสงสัยอย่างมากต่อผลงานของไอดอลสาว รวมไปถึงไอดอลท่านอื่นๆ จนเป็นแรงผลักดันให้อาจารย์เริ่มทำการวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวกับวงการ K-Pop และ K-Drama ว่าแท้จริงแล้วมีนัยยะด้านไหนแฝงอยู่ในผลงานต่าง ๆ เหล่านั้นบ้าง

อาจารย์เริ่มศึกษาตั้งแต่จุดตั้งต้นของการเติบโตขึ้นของวัฒนธรรมเกาหลีในแต่ละยุคสมัย หรือที่เรียกว่า Korean Wave ว่ามีบุคคลหลัก 3 ท่านที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการริเริ่มแนวคิดดังกล่าว ซึ่งก็คือ Porfessor Michael E. Porter, Porfessor Joseph S. Nye Jr. ที่มองเห็นถึงความสำคัญของ Soft Power และวัฒนธรรมประจำชาติที่จะช่วยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต และนักวิชาการเกาหลี Porfessor Lee Geun ที่เห็นถึงคุณค่าดังกล่าวและนำมาปรับใช้กับการวางนโยบายและพัฒนาประเทศเกาหลี ผ่านแนวคิดการนำเสนอ “เสน่ห์” (Lure) ของเกาหลีให้กับต่างชาติได้เห็นและเป็นที่รู้จักผ่านสื่อกลางหลากหลายประเภท  เช่น เกม ภาพยนตร์ ภาษา อาหารเกาหลี ซึ่ง Korean Wave จะยึดแนวคิดเรื่องความเป็นสากลจนทำให้วัฒนธรรมเกาหลีเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ได้รับการยอมรับ และโด่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ จนไปสู่สากลโลกตามที่หลายคนทราบกันดีในปัจจุบัน

นอกจากนี้ อาจารย์กมลได้นำเสนอ 6P Model ที่แสดงถึงวัฏจักรการพัฒนาว่า Korean Wave จะมีความแข็งแกร่งและอิทธิพลมากขึ้นในโลกอนาคตได้อย่างไร ผ่าน 6 กระบวนการ คือ 1. Policy นโยบายที่สนับสนุนให้วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญ เช่น นโยบาย New Southern Policy  ส่งผลอย่างมากต่อการขับเคลื่อนพหุวัฒนธรรมในเกาหลี  2. Private รัฐบาลต้องสนับสนุนเอกชนให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกสู่สังคม 3. Power of Trend ผลงานที่ดีนำไปสู่การสร้างเทรนด์ 4. Platform นำเสนอผลงานผ่านแพลตฟอร์มที่มีความทันสมัยและสากล 5. Power of Fandom ความแข็งแกร่งของแพลตฟอร์มจะช่วยกระตุ้นให้เกิดแฟนด้อม และแฟนด้อมเองก็จะเป็นผู้สนับสนุนให้แพลตฟอร์มมีความแข็งแกร่งและสามารถพัฒนาต่อไปได้เช่นเดียวกัน จนสุดท้ายแล้วแฟนด้อมเองก็จะสามารถปรับตัวไปตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่ง ตัวอย่างในปัจจุบันก็คือ 6. Post Covid-19 ที่เมื่อมีการปรับตัวในทุกๆ ขั้นตอน ในอนาคตก็จะวนเป็นวัฎจักร Korean Wave ที่แข็งแกร่ง มีอิทธิพลมากขึ้นและเติบโตกลายเป็น Wave ที่ 4.0 ต่อไป

สุดท้ายนี้ แม้เกาหลีเองก็จะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วัฒนธรรมเกาหลีเน้นที่ความเป็นสากล ความหลากหลายและเปิดกว้างในเรื่องพหุวัฒนธรรม ผ่านสร้างภาพลักษณ์ของประเทศเกาหลีให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างจนประสบความสำเร็จ สร้างความมั่งคั่งอย่างมากให้กับประเทศ และยังมีส่วนช่วยให้ประเทศยังสามารถเติบโตได้แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ และ อาจารย์ก็มองว่าคนไทยเองก็สามารถที่จะสร้างวัฒนธรรมร่วมระหว่างไทยและเกาหลีได้ หรือแม้แต่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับวัฒนธรรมบ้านเราเอง คนไทยนั้นมีความสามารถมากพอที่จะสร้างสรรค์และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นที่รู้จักได้เช่นเดียวกัน

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านการรับฟังและรับชมคลิปกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านลิงก์ของ Facebook Live ที่นี่

ชื่องานวิจัย: Kamon Butsaban(2019). How K-Pop Thai Idols Affect Koreans’ Public Perception of Thai People and Multicultural Families: The  Case of BLACKPINK’s Lisa. International Journal of East Asian Studies (IJEAS) Vol. 23 No. 2: 126-145

 Kamon Butsaban (2020). A Study on the Cultural Development of Korea towards Thailand through the New Southern Policy. Journal of Letters 49(1): 126-145

Eshani Bora, Kamon Butsaban,Buddhagarn Rutchatorn(2021). The Message of BTS for the Youth: A Case Study on the Popularity of BTS in North East India among 14-29 Age Group, The 14th International Humanities and Social Sciences Network Conference: Moving from Disruption  to Resilience: The Dynamics of Humanities and Social Sciences, 421-434

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง