โครงการอบรมภาษาเมียนมาเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว (หลักสูตรออนไลน์)
จัดโดยศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระหว่างวันที่ 23 มกราคม – 27 มีนาคม 2564
1. หลักการและเหตุผล
การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ส่งผลให้คนไทยที่มีความรู้ภาษาเมียนมากำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและมีแนวโน้มของความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่สิ่งที่พบคือคนไทยที่มีความรู้ภาษาเมียนมากลับยังมีน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการคนไทยที่สามารถใช้ภาษาเมียนมาเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยวได้ ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกิดความตื่นตัวในด้านการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรม ดังนั้น คนไทยที่มีความรู้ภาษาเมียนมาซึ่งประกอบด้วยทักษะด้านการฟัง พูด อ่านและเขียนจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับเมียนมาศึกษาในมิติเชิงลึกในด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วยเพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านธุรกิจและการท่องเที่ยวในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถเปรียบเทียบและเข้าใจลักษณะสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทยและเมียนมาได้ สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จึงเห็นสมควรจัดโครงการบริการวิชาการ “ภาษาเมียนมาเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว” ขึ้นเพื่อพัฒนาและฝึกฝนทักษะภาษาเมียนมาและองค์ความรู้ด้านเมียนมาศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพให้กับหน่วยงานและผู้ประกอบการไทยที่ต้องใช้ภาษาเมียนมาและเพื่อนำไปใช้ต่อยอดจนเกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด
2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ไวยากรณ์เมียนมาที่จำเป็นต่อการสื่อสาร สามารถฟัง พูด อ่านและเขียนตลอดจนมีความรู้ด้านเมียนมาศึกษาอย่างรอบด้าน
2. เพื่อให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมเมียนมา อันจะอำนวยประโยชน์ต่อการติดต่อสื่อสาร ดำเนินธุรกิจ กับชาวเมียนมา
3. เพื่อบริการวิชาการให้แก่หน่วยงานและผู้ประกอบการไทยที่สนใจภาษาเมียนมา อันเป็นการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม
3. หัวข้อการอบรม
การอบรมครั้งนี้เน้นฝึกฝนทักษะฟัง พูด อ่านและเขียน ตลอดจนความรู้ด้านเมียนมาศึกษาที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพทางธุรกิจและการท่องเที่ยวรวมถึงการเปรียบเทียบลักษณะสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทยและเมียนมา
4. วิธีจัดการอบรม
การอบรมจะเป็นการบรรยายโดยใช้ตำราหรือเอกสารประกอบการสอนและสื่อออนไลน์ที่ผู้เรียนสามารถฝึกฝนเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง
5. ระยะเวลาในการอบรม
ภาษาเมียนมาเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว 1 ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00 – 12.00 น.
ระหว่างวันที่ 23 มกราคม – 27 มีนาคม 2564 รวม 30 ชั่วโมง
6. กำหนดการรับสมัคร
ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2563
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ ตามช่องทางดังนี้
1. เว็บไซต์ www.AksornChula.com
2. email : aksornchula@chula.ac.th
3. หมายเลขโทรศัพท์ 02 218 4534-36
7. วิธีการสมัคร
สมัครออนไลน์ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.Aksornchula.com
1. สมัครลงชื่อเข้าใช้บริการ (กรณีสมาชิกใหม่)
2. ล๊อกอินเข้าระบบ
3. เลือกคอร์สเรียนอบรมภาษา (ห้ามวันและเวลาเดียวกัน)
4. ชำระเงินค่าอบรม โดย โอน/ฝาก เงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาสยามสแควร์ บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เลขที่บัญชี 152-4-218367 (รับชำระเต็มจำนวนเท่านั้นและกรณีโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ รบกวน capture หน้าจอที่ทำรายการให้เห็นเลขที่บัญชีที่ทำการโอนเข้า ยอดเงินที่ทำการโอนเข้า วันเวลาที่ทำรายการ หมายเลขอ้างอิง และโลโก้ธนาคารที่ใช้บริการให้ชัดเจนทางฝ่ายการเงินไม่รับหลักฐานการโอนเงินที่เป็นอีเมลตอบรับอัตโนมัติจากทางธนาคาร)
5. ส่งแนบหลักฐานการชำระเงินที่หน้าเว็บไซต์
6. เสร็จสิ้นการสมัคร มี E-mail แจ้งการสมัครเสร็จสมบูรณ์
8. คุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรม
1.ภาษาเมียนมาเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว 1 ไม่ต้องมีพื้นฐาน
2.ภาษาเมียนมาเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว 2 มีพื้นฐานอักขรวิธี ระบบเสียงและไวยากรณ์ภาษาเมียนมาเบื้องต้น
9. ค่าธรรมเนียมการอบรม
ค่าธรรมเนียมในการอบรมคนละ 3,000 บาท
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่คืนเงินค่าธรรมเนียมการอบรมที่ได้ชำระแล้วไม่ว่ากรณีใด นอกจากจะไม่สามารถเปิดการอบรมได้
10. การประเมินผล
แต่ละระดับมีการประเมินผลโดยการสอบเมื่อการอบรมเสร็จสิ้น ผู้สอบจะต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 60% จึงจะถือว่าสอบผ่าน ศูนย์บริการวิชาการจะออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน
11. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้เข้าอบรมจะได้ฝึกฝนทักษะภาษาเมียนมาเพื่อการสื่อสารและมีความรู้ด้านเมียนมาศึกษาเพื่อนำไปใช้ต่อยอดในการประกอบอาชีพ
2. โครงการนี้ตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคคลและหน่อยงานที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะภาษาเมียนมาและความรู้ด้านเมียนมาศึกษา
12. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีคณะกรรมการดำเนินโครงการประกอบด้วย
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว ประธานกรรมการ
2. ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กรรมการ
3. เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ กรรมการและเลขานุการ
About the author