โครงการบริการวิชาการชุด “จากแฟ้มสู่ไฟล์“
จัดโดยภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2563
1. หลักการและเหตุผล
การดำเนินภารกิจทุกประเภทเกี่ยวข้องกับการสร้าง การจัดเก็บ และการใช้ประโยชน์จากเอกสารดังนั้นเพื่อให้การจัดการดูแลและจัดเก็บรักษาเอกสารที่เกิดจากการปฏิบัติภารกิจเป็นระบบ ง่ายต่อการเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้สะดวกในอนาคต ผู้รับผิดชอบจำเป็นต้องเข้าใจหลักการ แนวคิด และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนั้นเอกสารสำคัญที่จัดเก็บเหล่านี้ ในอนาคตยังมีคุณค่าในฐานะจดหมายเหตุที่แสดงถึงความเป็นมา พัฒนาการการดำเนินงาน และการตัดสินใจเรื่องสำคัญของผู้บริหารองค์กร อันแสดงให้เห็นถึงความมีธรรมาภิบาล เอกสารจดหมายเหตุจึงนับเป็นแหล่งความรู้เพื่อการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และอ้างอิงของนักวิชาการ นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่สนใจศึกษาเรื่องราวในอดีตเพื่อต่อยอดปรับปรุงปัจจุบันสู่การพัฒนาในอนาคต อย่างไรก็ตามเนื่องจากการตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของการจัดเก็บเอกสาร และจดหมายเหตุอย่างเป็นระบบเพื่อการใช้งานในระยะยาว และการใช้ประโยชน์จากจดหมายเหตุเพื่อพัฒนาในด้านต่าง ๆ ยังมีอยู่ในวงจำกัด ประกอบกับสมรรถนะของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ส่งผลให้การจัดเก็บรักษา และการเข้าถึงเอกสารและจดหมายเหตุกระทำได้หลากหลาย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงาน นักวิชาการ และผู้สนใจมีโอกาสติดตามความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องจึงนับว่ามีประโยชน์ยิ่ง ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงประโยชน์ดังกล่าว จึงจัดโครงการบริการวิชาการ ชุด“จากแฟ้มสู่ไฟล์“ ซึ่งครอบคลุม 4 หัวข้อ ดังนี้
1.1 จากเอกสารสู่ธรรมาภิบาล และ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์
1.2 จาก Desktop ที่รกสู่ Desktop ที่รัก
1.3 จดหมายเหตุ: การใช้ และ ประโยชน์
1.4 เปลี่ยนโฉมเอกสารโบราณสู่หลักฐานดิจิทัล
2. วิธีการจัด
บรรยาย อภิปราย เสวนา และฝึกปฏิบัติ
3. ระยะเวลา
หัวข้อ“จากเอกสารสู่ธรรมาภิบาล และ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์”
วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 9.00-16.30 น.
หัวข้อ .”จาก Desktop ที่รกสู่ Desktop ที่รัก”
วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2563 เวลา 9.00-16.30 น.
หัวข้อ”จดหมายเหตุ: การใช้ และ ประโยชน์”
วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน 2563 เวลา 9.00-16.30 น.
หัวข้อ”เปลี่ยนโฉมเอกสารโบราณสู่หลักฐานดิจิทัล”
วันจันทร์ที่ 20-วันพุธที่ 22 เมษายน 2563 เวลา 9.00-16.30 น.
4. สถานที่
ห้อง 401/11 และ 711 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. ค่าธรรมเนียมการสมัคร
ค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าอบรมแตกต่างกันไปตามหัวข้อดังนี้
หัวข้อ“จากเอกสารสู่ธรรมาภิบาล และ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์” – 1,000.00 บาท
หัวข้อ .”จาก Desktop ที่รกสู่ Desktop ที่รัก.” -1,500.00 บาท
หัวข้อ”จดหมายเหตุ: การใช้ และ ประโยชน์”- 1,000.00 บาท
หัวข้อ”เปลี่ยนโฉมเอกสารโบราณสู่หลักฐานดิจิทัล”- 4,500.00 บาท
ค่าธรรมเนียมการอบรมสำหรับผู้สมัคร 3 หัวข้อ 1,2,3 (3,300 บาท)
ค่าธรรมเนียมการอบรมสำหรับผู้สมัคร 3 หัวข้อ 1,2,4 (6,600 บาท)
ค่าธรรมเนียมการอบรมสำหรับผู้สมัคร 3 หัวข้อ 1,3,4 ( 6,200 บาท)
ค่าธรรมเนียมการอบรมสำหรับผู้สมัคร 3 หัวข้อ 2,3,4 ( 6,600 บาท)
ค่าธรรมเนียมการอบรมสำหรับผู้สมัคร 3 หัวข้อ 1,2,3,4 ( 7,500 บาท)
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่คืนเงินค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าอบรม เว้นแต่ไม่อาจเปิดอบรมได้
6. ข้อมูลการรับสมัคร
สมัครออนไลน์ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.AksornChula.com
1. สมัครลงชื่อเข้าใช้บริการ
2. ล๊อกอินเข้าระบบ
3. เลือกคอร์สเรียนอบรมภาษา (ห้ามวันและเวลาเดียวกัน)
4. ชำระเงินค่าอบรม โดย โอน/ฝาก เงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาสยามสแควร์ บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เลขที่บัญชี 152-4-218367 (รับชำระเต็มจำนวนเท่านั้นและกรณีโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ รบกวน capture หน้าจอที่ทำรายการให้เห็นเลขที่บัญชีที่ทำการโอนเข้า ยอดเงินที่ทำการโอนเข้า วันเวลาที่ทำรายการ หมายเลขอ้างอิง และโลโก้ธนาคารที่ใช้บริการให้ชัดเจนทางฝ่ายการเงินไม่รับหลักฐานการโอนเงินที่เป็นอีเมลตอบรับอัตโนมัติจากทางธนาคาร)
5. ส่งแนบหลักฐานการชำระเงินที่หน้าเว็บไซต์
6. เสร็จสิ้นการสมัคร มี E-mail แจ้งการสมัครเสร็จสมบูรณ์
7. กำหนดการรับสมัคร
ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2563
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ ตามช่องทางดังนี้
เว็บไซต์ www.AksornChula.com
email : aksornchula@chula.ac.th
หมายเลขโทรศัพท์ 02-2184886
8. การประเมินผล
ผู้เข้ารับการอบรมเกินกว่าร้อยละ 80 จะได้รับวุฒิบัตรจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.1 ผู้ปฏิบัติงานตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของเอกสาร และจดหมายเหตุ สามารถพัฒนาระบบการจัดเก็บเอกสารที่มีคุณภาพได้อย่างเหมาะสมกับบริบทองค์กรและสภาพแวดล้อมในสังคม ก่อให้เกิดความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเอกสารและจดหมายเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2 องค์กรต่าง ๆ ในสังคมรับรู้และเห็นแนวทางการใช้ประโยชน์จากจดหมายเหตุเพื่อต่อยอดการพัฒนากิจกรรมด้านต่าง ๆ
10.ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องความสำคัญในการจัดการข้อมูลและเอกสารกับการสร้างธรรมาภิบาล
2. ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์กับนักวิชาการและบุคคลอื่น ๆ ที่สนใจเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลและเอกสารกับการสร้างธรรมาภิบาล
11.คณะกรรมการดำเนินโครงการ
1. หัวหน้าภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ประธานกรรมการ
2. ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กรรมการ
3. รองศาสตราจารย์จินดารัตน์ เบอรพันธุ์ กรรมการ
4. อาจารย์ ดร.นยา สุจฉายา กรรมการ
5. อาจารย์ ดร.พิมพ์พจน์ สีลาเขต กรรมการ
6. เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ กรรมการและเลขานุการ
About the author