โครงการอบรมภาษาบาลีสู่มหาวิทยาลัย (หลักสูตรออนไลน์)
จัดโดยศูนย์บริการวิชาการร่วมกับสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม – 24 กรกฎาคม 2564
1. หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันภาษาบาลีได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่นักเรียนที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเป็นวิชาหนึ่งที่สำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กำหนดให้ผู้เข้าสอบสามารถเลือกสอบ เพื่อยื่นคะแนนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ นอกจากนี้ ภาษาบาลียังได้รับความสนใจจากนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอีกจำนวนไม่น้อย ที่สนใจศึกษาภาษาบาลี แต่ประสบปัญหาว่าในมหาวิทยาลัยที่สังกัดไม่มีการเรียนการสอนภาษาบาลี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กำหนดนโยบายและวัตถุประสงค์ทางการศึกษาในการบริการวิชาการแก่สังคม โดยจัดอบรมวิชาการต่าง ๆ ให้แก่บุคลากรภายใน และบุคคลภายนอก เพื่อเพิ่มพูนความรู้และเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จึงเห็นสมควรจัดโครงการบริการวิชาการ “ภาษาบาลีสู่มหาวิทยาลัย” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้สนใจได้ศึกษาภาษาบาลีขั้นพื้นฐาน เพื่อใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือเป็นพื้นฐานในการศึกษาขั้นสูงต่อไป
2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ไวยากรณ์บาลีที่จำเป็นต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ การเรียนภาษาบาลีระดับมหาวิทยาลัยได้
2. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอ่านประโยค และย่อหน้าที่เป็นภาษาบาลีขั้นพื้นฐาน-ขั้นกลางได้
3. เพื่อบริการวิชาการให้แก่นักเรียนมัธยมและบุคคลทั่วไปผู้สนใจภาษาบาลี อันเป็นการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม
3. หัวข้อการอบรม
การอบรมครั้งนี้เน้นทำความเข้าใจไวยากรณ์บาลีขั้นพื้นฐานทั้งด้านคำศัพท์และโครงสร้างภาษา ตลอดจนฝึกทักษะการวิเคราะห์ข้อสอบภาษาบาลีจากตัวอย่างข้อสอบภาษาบาลีของสทศ. เพื่อปูพื้นฐานความรู้สำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยและการศึกษาภาษาบาลีในขั้นสูงขึ้นไป
4. วิธีจัดการอบรม
การอบรมจะเป็นการบรรยายออนไลน์โดยใช้ตำราหรือเอกสารประกอบการสอน
5. ระยะเวลาในการอบรม
ภาษาบาลีสู่มหาวิทยาลัย 1 ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00 – 12.00 น.
ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม – 24 กรกฎาคม 2564 รวม 30 ชั่วโมง
ภาษาบาลีสู่มหาวิทยาลัย 4 ทุกวันเสาร์ เวลา 13.00 – 16.00 น.
ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม – 24 กรกฎาคม 2564รวม 30 ชั่วโมง
6. กำหนดการรับสมัคร
ตั้งแต่วันนี้ – 30 เมษายน 2564
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ ตามช่องทางดังนี้
1. เว็บไซต์ www.AksornChula.com
2. email : aksornchula@chula.ac.th
3. หมายเลขโทรศัพท์ 02-218-4534-36
7. วิธีการสมัคร
สมัครออนไลน์ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.Aksornchula.com
1. สมัครลงชื่อเข้าใช้บริการ (กรณีสมาชิกใหม่)
2. ล๊อกอินเข้าระบบ
3. เลือกคอร์สเรียนอบรมภาษา (ห้ามวันและเวลาเดียวกัน)
4. ชำระเงินค่าอบรม โดย โอน/ฝาก เงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาสยามสแควร์ บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เลขที่บัญชี 152-4-218367 (รับชำระเต็มจำนวนเท่านั้นและกรณีโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ รบกวน capture หน้าจอที่ทำรายการให้เห็นเลขที่บัญชีที่ทำการโอนเข้า ยอดเงินที่ทำการโอนเข้า วันเวลาที่ทำรายการ หมายเลขอ้างอิง และโลโก้ธนาคารที่ใช้บริการให้ชัดเจนทางฝ่ายการเงินไม่รับหลักฐานการโอนเงินที่เป็นอีเมลตอบรับอัตโนมัติจากทางธนาคาร)
5. ส่งแนบหลักฐานการชำระเงินที่หน้าเว็บไซต์
6.เสร็จสิ้นการสมัครมีE-mailแจ้งการสมัครเสร็จสมบูรณ์
8. คุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรม
1. พื้นฐาน 1 ผู้เรียนไม่ต้องมีพื้นมาก่อนหรือได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอน
2. พื้นฐาน 4 ผู้เรียนต้องเรียนพื้นฐาน 3 มาก่อนหรือได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอน
9. ค่าธรรมเนียมการอบรม
ค่าธรรมเนียมในการอบรมคนละ 3,000 บาท
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่คืนเงินค่าธรรมเนียมการอบรมที่ได้ชำระแล้วไม่ว่ากรณีใด นอกจากจะไม่สามารถเปิดการอบรมได้
10. การประเมินผล
แต่ละระดับมีการประเมินผลโดยการสอบเมื่อการอบรมเสร็จสิ้น ผู้สอบจะต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 60% จึงจะถือว่าสอบผ่าน ศูนย์บริการวิชาการจะออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน
11. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้ไวยากรณ์บาลีที่ครอบคลุมเนื้อหาของข้อสอบวิชาเฉพาะภาษาบาลี และมีความพร้อมในการเตรียมตัวสอบวิชาเฉพาะภาษาบาลีเพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย หรือ มีความรู้เพียงพอในการศึกษาภาษาบาลีในระดับอุดมศึกษา
2. โครงการนี้ตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคคลทั่วไปที่ต้องการศึกษาต่อเนื่อง
12. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีคณะกรรมการดำเนินโครงการประกอบด้วย
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว ประธานกรรมการ
2. ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กรรมการ
3. เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ กรรมการและเลขานุการ
About the author