ศูนย์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย


 หลักการและเหตุผล

                  ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในเอเชียมาโดยตลอด โดยมีคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย รวมทั้งมีความรู้ทางภาษาของประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ ภาควิชาฯมีหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกซึ่งเน้นการวิจัย และสนับสนุนให้นิสิตจำนวนหนึ่งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศในเอเชียและประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในเอเชีย เพื่อผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้และวิธีการวิจัยทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในทางวิชาการและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของสังคมไทยโดยรวมเกี่ยวกับประเทศในเอเชียซึ่งอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และมีแนวโน้มที่จะขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น

                   อนึ่ง ในปีงบประมาณ 2545-2546 ภาควิชาฯได้รับงบประมาณจากทบวงมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนระดับปริญญาเอก ซึ่งงบประมาณบางส่วนจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลผลงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในเอเชีย และทุนสนับสนุนให้อาจารย์เดินทางไปสร้างเครือข่ายการวิจัยในต่างประเทศ

                   จากความพร้อมในประการต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ภาควิชาฯจึงมีความประสงค์จะจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัย “ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในเอเชีย” โดยความสนับสนุนของคณะอักษรศาสตร์ และของมหาวิทยาลัย เพื่อให้คณาจารย์และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาสามารถดำเนินการวิจัยในประเด็นดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการในประเด็นการวิจัยดังกล่าว

  ภูมิหลัง : ประสบการณ์ของคณาจารย์และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาทางการวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย

                     ผลงานการวิจัยของภาควิชาประวัติศาสตร์อาจแบ่งได้เป็น 2 ระดับใหญ่ ๆ คือ งานวิจัยในระดับอาจารย์โดยตรงและวิทยานิพนธ์ของนิสิตทั้งระดับปริญญาโทและเอกซึ่งอาจารย์ในภาควิชาฯ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในเอเชียปรากฏอย่างสม่ำเสมอในงานวิจัยทั้ง 2 ระดับ โดยผลงานวิจัยระดับอาจารย์ในรายบุคคลนั้นอาจพิจารณาได้จากประวัติและผลงานของอาจารย์ตามเอกสารแนบ ในส่วนของวิทยานิพนธ์นั้น   ภาควิชาประวัติศาสตร์กำหนดว่านิสิตทุกคนทั้งระดับปริญญาโทและเอกต้องเสนอวิทยานิพนธ์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา โดยมีนิสิตที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทเป็นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2488 และภาควิชาฯ ยังคงดำเนินการสอนมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนในระดับปริญญาเอกนั้นได้มีนิสิตจบการศึกษาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 และได้ดำเนินการสอนมาจนถึงปัจจุบันนี้เช่นเดียวกัน

                    ภาควิชาฯ ได้เคยจัดพิมพ์หนังสือ "รวมบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ พ.ศ. 2488 - 2534" ในโอกาสครบรอบ 50 ปี บัณฑิตศึกษา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2535 จากรายชื่อและบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ที่รวบรวมไว้ในหนังสือดังกล่าวนี้ปรากฏว่าผลงานจำนวนไม่น้อยเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในเอเชีย ซึ่งมีการศึกษาความสัมพันธ์ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยอาจแบ่งการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับแต่ละประเทศในเอเชียได้ดังนี้

จีน 6 เรื่อง
ลาว 4 เรื่อง
กัมพูชา 1 เรื่อง

เวียดนาม 3 เรื่อง

พม่า 2 เรื่อง
มอญ 1 เรื่อง
อินโดจีน (โดยรวม) 1 เรื่อง

มลายู 1 เรื่อง

ศรีลังกา 1 เรื่อง

อินโดนีเซีย 1 เรื่อง

อินเดีย 1 เรื่อง

ญี่ปุ่น 3 เรื่อง

เอเชีย (โดยรวม) 1 เรื่อง

                  โดยการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ดังกล่าวครอบคลุมทั้งประเด็นด้านการค้าและเศรษฐกิจ การทหารและการสงคราม, สังคมและวัฒนธรรม, การเมือง

                  นอกจากรายชื่อและบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ใน พ.ศ. 2535 ดังกล่าวมาแล้ว วิทยานิพนธ์ของภาควิชาฯ ในระยะเวลาหลังจากนั้นก็ยังคงมีเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในเอเชียมาเป็นระยะ ๆ จนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้นจึงนับว่าการวิจัยในประเด็นดังกล่าวเป็นหัวข้อวิจัยหัวข้อหนึ่งที่ภาควิชาฯ ได้มีประสบการณ์มาอย่างสม่ำเสมอทั้งในระดับงานวิจัยของอาจารย์โดยตรงและในระดับวิทยานิพนธ์ของภาควิชาฯ

 วัตถุประสงค์

      1. ส่งเสริมงานวิจัยที่มีคุณภาพทางด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย รวมทั้งประวัติศาสตร์ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และการต่างประเทศของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียที่มีความสัมพันธ์กับไทย
      2. สร้างองค์ความรู้ของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับประเทศในเอเชีย และประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียที่สัมพันธ์กับไทย ตลอดจนประเด็นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย
      3. จากการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ 2 ประการแรกนำไปสู่วัตถุประสงค์ข้อ 3 คือการสร้างความแข็งแกร่งของภาควิชาในเรื่องประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆในเอเชียรวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันในเชิงเปรียบเทียบ

 ขอบเขตของการศึกษาวิจัย

      1. วิจัยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย
      2. สร้างองค์ความรู้ใหม่ของประวัติศาสตร์ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียเพื่อใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ๆ กับประเทศไทย
      3. จากขอบเขตของงานตามข้อ 1 และข้อ 2 นำไปสู่การศึกษาเปรียบเทียบประเด็นที่สำคัญบางประเด็นของประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เช่น ระบบราชการ การเมือง ชนชั้นในสังคม

  บุคลากร

      คณะกรรมการบริหารศูนย์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย

    คณบดี

    ที่ปรึกษา

    (ศาสตราจารย์ ดร. ธีระพันธ์   เหลืองทองคำ)

    รองคณบดีฝ่ายวิจัย

    ที่ปรึกษา

    (รองศาสตราจารย์ พิพาดา   ยังเจริญ)

    หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์

    ที่ปรึกษา

    (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวิตรี   เจริญพงศ์)

    ผู้อำนวยการศูนย์ฯ

    ประธานกรรมการ

    (ศาสตราจารย์ ดร. ปิยนาถ   บุนนาค)

    รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ

    กรรมการ

    (อาจารย์ ดร.จุฬิศพงศ์   จุฬารัตน์)

    รองศาสตราจารย์ ดร.สุรางค์ศรี   ตันเสียงสม

    กรรมการ

    รองศาสตราจารย์ ดร.สุวดี   ธนประสิทธิ์พัฒนา

    กรรมการ

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุลีพร   วิรุณหะ

    กรรมการ

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย   ยิ้มประเสริฐ

    กรรมการ

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กาญจนี   ละอองศรี

    กรรมการ

    อาจารย์ ดร.ธีรวัต   ณ ป้อมเพชร

    กรรมการ

    อาจารย์ ดินาร์   บุญธรรม

    กรรมการ

    เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ

    เลขานุการ

    (นางสาวจันทิมา   ศรีกิจโรจน์)

      อาจารย์นักวิจัย

      

    ศาสตราจารย์ ดร.ปิยนาถ บุนนาค

    (ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ขององค์การอาเซียน, ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ศรีลังกา, ประวัติศาสตร์คนกลุ่มน้อยทางภาคใต้ของไทย)

    รองศาสตราจารย์ ดร.สุรางค์ศรี ตันเสียงสม 

    (ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จีน และ เกาหลี ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น)

    รองศาสตราจารย์ฉลอง สุนทราวาณิชย์

    (ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว)

    รองศาสตราจารย์พิพาดา ยังเจริญ

    (ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น)

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

    (ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ทัศนะและบทบาท ชาวโปรตุเกสในเอเชีย)

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวิตรี เจริญพงศ์

    (ประวัติศาสตร์อินเดียและประวัติศาสตร์คนกลุ่มน้อย ในประเทศไทย)

    อาจารย์ ดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร

    (ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประวัติศาสตร์ทัศนะและบทบาทชาวดัตช์ในเอเชีย)

    อาจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์

    (ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า)

    อาจารย์ภาวรรณ เรืองศิลป์

    (Ph.D. Candidate-กำลังทำวิจัยด้านประวัติศาสตร์ทัศนะ และบทบาทชาวดัตช์ในเอเชีย)

    อาจารย์ดินาร์ บุญธรรม

    (Ph.D. Candidate-กำลังทำวิจัยด้านประวัติศาสตร์โลกมุสลิม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
       

 แผนการดำเนินงาน 3 ปี (1  สิงหาคม  2545 - 31  กรกฎาคม  2548)

                แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย

                    ระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2545 หน่วยปฏิบัติการฯ ได้รับทุนสนับสนุนจากทบวงมหาวิทยาลัยให้จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับประเทศในเอเชีย เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นของอาจารย์นักวิจัย  และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา  อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหัวข้อการวิจัย โดยได้รับความสนับสนุนเป็นเงิน 50,000.00 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)

                 แผนงานสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติเพื่อประโยชน์ในการวิจัย

                   ในปีงบประมาณ 2545 และ 2546 ภาควิชาฯ ได้รับงบประมาณจากโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาเพื่อพัฒนาอุดมศึกษาไทย และได้รับอนุมัติให้ดำเนินกิจกรรมการสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติเพื่อประโยชน์ในการวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศในเอเชีย และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในเอเชีย ดังนี้

 แผนงานเผยแพร่งานวิจัย

                 การจัดพิมพ์ผลงานวิจัยเป็นรูปเล่ม

                    ศูนย์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ฯ มีนโยบายจัดพิมพ์ผลงานวิจัยของคณาจารย์และนิสิตเป็นรูปเล่ม เพื่อเผยแพร่ความรู้จากการวิจัย

    หนังสือที่ตีพิมพ์และวางจำหน่ายแล้ว :

ลำดับที่ 1
ศาสตราจารย์ ดร.ปิยนาถ   บุนนาค
นโยบายการปกครองของรัฐบาลต่อชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  (พ.ศ. 2475-2516).
ในราคาเล่มละ 200.00 บาท
(ราคาพิเศษลด 15% จากราคาปกติ  เมื่อซื้อที่
โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ)

เนื้อหาโดยสังเขป <click>

ลำดับที่ 2
ดร.สุด   จอนเจิดสิน
ประวัติศาสตร์เวียดนามตั้งแต่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศสถึงปัจจุบัน.
ในราคาเล่มละ 200.00 บาท
(ราคาพิเศษลด 15% จากราคาปกติ  เมื่อซื้อที่
โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ)

เนื้อหาโดยสังเขป <click>

ลำดับที่ 3
ดร.จุฬิศพงศ์   จุฬารัตน์
ขุนนางกรมท่าขวา การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยา
ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2153-2435.
ในราคาเล่มละ 245.00 บาท
(ราคาพิเศษลด 15% จากราคาปกติ  เมื่อซื้อที่
โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ)

เนื้อหาโดยสังเขป <click>

ลำดับที่ 4
รองศาสตราจารย์ พิพาดา   ยังเจริญ
จักรพรรดิ  ขุนนาง  นักรบ  และพ่อค้า  ในสังคมญี่ปุ่นก่อนสมัยใหม่
ในราคาเล่มละ 250.00 บาท
(ราคาพิเศษลด 15% จากราคาปกติ  เมื่อซื้อที่
โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ)

เนื้อหาโดยสังเขป <click>

ลำดับที่ 5
นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์   อินทรภิรมย์
เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ทัศนะและบทบาทของจีนสยามในสังคมไทย
ในราคาเล่มละ 240.00 บาท
(ราคาพิเศษลด 15% จากราคาปกติ  เมื่อซื้อที่
โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ)

เนื้อหาโดยสังเขป <click>


           มีจำหน่ายที่ :-
                 1. โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ  คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   โทร.0-2218-4888                    
                       2.  ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0-2218-7000


ลำดับที่ 1
ศ. ดร.ปิยนาถ  บุนนาค
นโยบายการปกครองของรัฐบาลต่อชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  (พ.ศ. 2475-2516)

เนื้อหาโดยสังเขป

ปัญหาความมั่นคงบริเวณชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง งานวิจัยเรื่องนี้มุ่งศึกษาว่า นโยบายของรัฐบาลต่อชาวไทยมุสลิมในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงที่ศึกษา (พ.ศ. 2475-2516) ได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมหรือไม่เพียงไร และหากมีประเด็นไม่เหมาะสมควรจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น

ลำดับที่ 2
ดร.สุด  จอนเจิดสิน
ประวัติศาสตร์เวียดนามตั้งแต่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศสถึงปัจจุบัน

เนื้อหาโดยสังเขป

"การเข้ามาของระบอบอาณานิคมฝรั่งเศสในดินแดนเวียดนาม นอกจากนำเวียดนามเข้าไปสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่  ยังได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิถีชีวิต ไปจนกระทั่งในระดับความคิดของชาวเวียดนาม การศึกษาประวัติศาสตร์เวียดนามสมัยอาณานิคมเล่มนี้ จึงเป็นการอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมัยอาณานิคมอย่างเป็นระบบ และช่วยทำให้สามารถ เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมเวียดนามในปัจจุบันได้อย่างแจ่มชัด"

< Back
ลำดับที่ 3
ดร.จุฬิศพงศ์  จุฬารัตน์
ขุนนางกรมท่าขวา การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2153-2435

เนื้อหาโดยสังเขป

"ขุนนางกรมท่าขวา" เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของขุนนางต่างชาติ โดยเฉพาะขุนนางมุสลิมในระบบราชการสยาม โดยอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกิจกรรมหลักของขุนนางกรมท่าขวาใน 2 ส่วน คือ กิจกรรมการค้าและการติดต่อกับชาวต่างชาติ และชี้ให้เห็นว่าขุนนางกลุ่มนี้มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา การต่างประเทศและการควบคุมกำลังพลชาวต่างชาติ ทั้งยังศึกษาวิเคราะห์กระบวนการด้านการค้าของไทย การควบคุมชาวต่างชาติกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งพลวัตที่เกิดขึ้นในหมู่ขุนนางต่างชาติที่มีความต่อเนื่องยาวนานกว่า 200 ปี

ลำดับที่ 4
รองศาสตราจารย์พิพาดา ยังเจริญ
จักรพรรดิ ขุนนาง นักรบ และพ่อค้า ในสังคมญี่ปุ่นก่อนสมัยใหม่

เนื้อหาโดยสังเขป

จักรพรรดิ ขุนนาง นักรบ และพ่อค้า ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมากทางการเมือง และเศรษฐกิจในสังคมญี่ปุ่นก่อนสมัยใหม่ จักรพรรดิทรงเป็นทั้งผู้ปกครองและผู้นำทางศาสนาดั้งเดิมของญี่ปุ่น พระองค์ทรงเป็นที่เคารพสักการะของคนญี่ปุ่นในสมัยโบราณ ในฐานะที่ทรงเป็นเทพเจ้าผู้สืบทอดอำนาจศักดิ์สิทธิ์มาจากเจ้าแม่แห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดที่คนญี่ปุ่นให้ความเคารพบูชา ในขณะที่ขุนนางคือกลุ่มคนที่พัฒนาอำนาจมาจากการเป็นหัวหน้าเผ่า หรือหัวหน้ากลุ่มผู้ผลิตตามรูปแบบการปกครองดั้งเดิมของญี่ปุ่น ต่อมาได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับจักรพรรดิและเข้ามาทำงานในระบบราชการ ซึ่งมีจักรพรรดิเป็นประมุข หัวหน้าตระกูลขุนนางที่สำคัญ ๆ สามารถก้าวขึ้นสู่การมีอำนาจทางการเมืองการปกครองสูงสุดในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 10-11 แต่ขุนนางที่มีอำนาจเหล่านี้ก็มิได้โค่นล้มสถาบันจักรพรรดิ หรือสถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิเช่นเดียวกับกลุ่มนักรบ ที่เริ่มมีอำนาจและพัฒนาอำนาจอย่างรวดเร็ว จนสามารถแย่งอำนาจการปกครองจากขุนนาง และกลายเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นที่มีอำนาจอย่างเด็ดขาดตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17-19 นักรบก็เช่นเดียวกับขุนนางคือ ให้การยกย่องสถาบันจักรพรรดิเหมือนเช่นกลุ่มขุนนาง พ่อค้าแม้จะมีสถานะทางสังคมต่ำกว่าชาวนาและช่างฝีมือ แต่พ่อค้าก็ค่อย ๆ มีบทบาทในสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 จนกระทั่งมีบทบาททางเศรษฐกิจสูงสุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-19 หนังสือเล่มนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดิกับขุนนาง จักรพรรดิกับนักรบ และผู้ปกครองคือนักรบกับพ่อค้า ในประเด็นลักษณะความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าว รวมทั้งปัจจัยที่มีอิทธิพลกำหนดลักษณะความสัมพันธ์นั้น ๆ ตลอดจนผลกระทบที่อาจมีต่อการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก่อนสมัยใหม่

< Back
ลำดับที่ 5
นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์
เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ทัศนะและบทบาทของจีนสยามในสังคมไทย

เนื้อหาโดยสังเขป

เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง เป็นตัวแทนของชาวจีนสยาม ที่มีบทบาทในสังคมสยามก่อนการปฏิวัติ 2475 ลักษณะของกลุ่มที่เรียกว่า จีนสยาม นั้นก็คือ ชาวจีนที่เกิดและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมสยาม แม้ว่าชาวจีนเหล่านี้จะมีความผูกพันกับเมืองจีน มีความสนใจในการเมืองจีน หรือแม้แต่จะมีสำนึกในชาตินิยมจีน แต่กาละและเทศะของพวกเขาคือประเทศสยาม พวกเขาจึงมีความผูกพันกับสยามในฐานะบ้านเกิดเมืองนอน และมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่เป็นชาวสยามควบคู่ไปด้วย การศึกษาบทบาทของเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง จะช่วยทำให้เข้าใจบริบทของการเมืองจีนและสังคมสยามในขณะเดียวกัน และในฐานะที่เซียวฮุดเสงเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จีนในสยามวารศัพท์ ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญสมัยรัชกาลที่ 6 การเข้าใจบทบาทของเซียวฮุดเสง จึงเป็นการขยายความรู้ในด้านประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชนในไทยด้วย