รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์
รองคณบดีคณะอักษรศาสตร์

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2459 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการก่อตั้งให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย คณะอักษรศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่คณะที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นพร้อมๆ กับมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ เพื่อฉลองโอกาสสถาปนาครบรอบหนึ่งศตวรรษใน พ.ศ.2560 นี้ คณะอักษรศาสตร์จึงเห็นควรให้มีการพัฒนาตราสัญลักษณ์หนึ่งร้อยปีอักษรศาสตร์ รศ.ดร.กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา คณบดีคณะอักษรศาสตร์ ได้มอบหมายให้คณะทำงานซึ่งประกอบด้วย ผศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ อ.ดังกมล ณ ป้อม-เพชร ผศ.ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ และนายอรรถพล ปะมะโข ร่วมกันเสนอแนวคิดในการพัฒนาตราสัญลักษณ์ในโอกาสดังกล่าว โดยมีนายนักรบ มูลมานัส ศิษย์เก่าภาควิชาภาษาไทย เป็นผู้ออกแบบ


ที่มาของการพัฒนาตราสัญลักษณ์

ในการพัฒนาตราสัญลักษณ์ อ.ดร.เอกก์ ภัทรธนกุล ผู้อำนวย-การศูนย์บริหารและสื่อสารแบรนด์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรเพื่อช่วยค้นหาลักษณะสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนของความเป็นอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559 โดยคณะได้เชิญตัวแทนจากคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันมาร่วมเสวนาระดมความคิด ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 9 อาคารมหาจักรีสิรินธร ผลจากการเสวนาพบว่าลักษณะสำคัญ 5 ลักษณะที่ผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นพ้องว่าสอดคล้องกับความเป็นอักษรศาสตร์คือ (1) การมีฉันทะ มีความชอบในสิ่งที่เรียน เป็นการเรียนเพราะใจรัก (passion) (2) การมีความคิดสร้างสรรค์ มีมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากคนอื่น (creativity) (3) การมีวิสัยทัศน์ เป็นคนที่มีโลกทัศน์กว้างไกล มองสิ่งต่างๆ แตกต่างจากคนอื่น (vision) (4) ความช่ำชองเชี่ยวชาญ ใส่ใจและมีการอุทิศตนในการทำงานสูง เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ เป็นผู้ที่รู้ลึกในศาสตร์เฉพาะทาง (expertise) และ (5) การก้าวข้ามพรมแดน เป็นคนที่มีมุมมองแตกต่างและมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดอย่างอิสระ มองกว้างและเชื่อมโยงสาขาวิชาตนเองกับสาขาวิชาอื่นๆ หรือปรับใช้ทักษะของตนกับสาขาวิชาอื่นๆ ได้ (beyond boundaries)

คณะทำงานจึงเห็นพ้องว่ารูปที่ตรงกับลักษณะทั้งห้าและสื่อให้เห็นถึงความเป็นอักษรศาสตร์ได้นั้นคือ รูปหางนกยูง ดวงตาใจกลางของขนนกยูงหรือ “แวว” นั้นแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ แสดงให้เห็นถึงนัยของการมองซึ่งเป็นแก่นสำคัญของการเรียนอักษรศาสตร์ เป็นการปลูกฝังให้นิสิตมีมุมมองที่แตก-ต่างและมีวิจารณญาณ ส่วนสีสันที่เหลือบลายแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ การเหลื่อมซ้อนกันของขนนกยูงอย่างเป็นระบบระเบียบแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์แบบ นอกจากนั้น ปลายขนซึ่งออกแบบให้แหลมนั้นเพื่อให้ขนนกยูงมีลักษณะคล้ายเปลวไฟ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการอุทิศตนและจิตใจที่มุ่งมั่นในการทำงานและการก้าวไปข้างหน้า ส่วนความโปร่งเบาแต่มีความหนักแน่นของขนนกยูงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว และอิสรภาพในการคิดต่างอย่างสร้างสรรค์

finallogo-01 finallogo-02

finallogo-06 finallogo-08


ความหมายของตราสัญลักษณ์

การเลือกตราสัญลักษณ์เป็นหางนกยูงยังเป็นการสื่อถึงนกยูงซึ่งเป็นพาหนะของพระสุรัสวดี ชายาแห่งพระพรหม เทวีแห่งอักษรศาสตร์ ในตำนานเทพปกรณัมฮินดู พระสุรัสวดีนอกจากจะเป็นเทพแห่งการดนตรี การวาดเขียน และการเขียนหนังสือแล้ว ยังถือเป็นเทวีแห่งปัญญาความรู้ เป็นเทวีแห่งการศึกษา วิจัย การสร้างสรรค์ และศิลปะโดยรวม เป็นผู้ให้กำเนิดอักษรเทวนาครีและบทสวดมนต์บทแรกของจักรวาล พระสุรัสวดีจึงมีความเกี่ยวข้องกับสาขาอักษรศาสตร์โดยตรงและใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของคณะอักษรศาสตร์ในต่างกรรมต่างวาระ

ในแง่ความเป็นสากลของตราสัญลักษณ์นั้น นกยูงยังเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ ความเป็นนิรันดร์ และความงาม ในคริสต์ศาสนา นกยูงเป็นตัวแทนของความเป็นอมตะ สำหรับชาวมุสลิม นกยูงเป็นสัญลักษณ์แห่งจักรวาล และหางนกยูงที่แพนออกเป็นสัญลักษณ์แห่งจักรวาลที่สมบูรณ์ ในตำนานของลัทธิซูฟี พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างพระจิตในรูปของนกยูง อาจกล่าวได้ว่าหางนกยูงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่เชื่อมโยงความงามกับปัญญา เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางสุนทรียะกับการสร้างสรรค์ทางปัญญาอย่างลึกซึ้ง

การออกแบบหางนกยูงนั้น ใช้สีสำคัญสองสีด้วยกัน ส่วนกรอบนอกและใจกลางใช้สีเทาซึ่งถือเป็นสีประจำคณะอักษรศาสตร์ สีเทาที่เลือกใช้เป็นสีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสีขาวกับสีดำ นอกจากจะเป็นสีของศิลาจารึกหลักที่ 1 แล้ว ยังสื่อนัยของการไม่ตัดสินทุกอย่างเป็นขาวกับดำ หากพินิจให้เห็นถึงความซับซ้อนของเหตุการณ์ต่างๆ อย่างที่เป็นจริง ส่วนสีชมพูนั้นเป็นสีประจำวันอังคาร วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย

ใจกลางของหางนกยูงหรือแววหางนกยูงนั้น ทำให้เป็นรูปใบของต้นชงโค ต้นไม้ประจำคณะอักษรศาสตร์ ใบชงโคเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของคณะและใช้เป็นแบบของตุ้งติ้งสำหรับนิสิตหญิง

ขั้นตอนการพัฒนา

นอกจากการเสวนาระดมสมองเพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของความเป็นอักษรศาสตร์ คณะทำงานและผู้ออกแบบได้ประชุมกันหลายครั้งเพื่อพัฒนาตราสัญลักษณ์ ในระยะแรกของการพัฒนา คณะทำงานได้ทดลองเลือกรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการใช้รูปเทวาลัย พญานาค นกยูง ฯลฯ แต่พบว่ามีความซับซ้อนในลวดลายมากจนเกินไป ในขั้นตอนนี้ คณะทำงานได้เสนอตราสัญลักษณ์ในรูปแบบที่แตกต่างกันในการประชุมกรรมการหลายคณะด้วยกัน อาทิ คณะกรรมการบริหารคณะอักษรศาสตร์ คณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ และในการประชุมประจำปีของคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ เพื่อรับความเห็นเพิ่มเติมและนำมาพัฒนาจนได้ตราสัญลักษณ์ตามที่ปรากฏ คณะทำงานขอขอบพระคุณคณะกรรมการทุกคณะที่ได้ไปขอความเห็นมา ณ ที่นี้

ทั้งนี้ คณะอักษรศาสตร์ได้ออกแบบตราสัญลักษณ์หนึ่งร้อยปีอักษรศาสตร์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีสามลักษณะด้วยกันคือ แบบตั้ง แบบเอียง และแบบนอน เพื่อให้อาจารย์ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันเลือกนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตามความเหมาะสม

ในลำดับต่อไป คณะอักษรศาสตร์จะพัฒนาให้ตราสัญลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของสื่อประชาสัมพันธ์ของคณะ อาทิ เว็บไซต์และวิดีทัศน์แนะนำคณะ อีกทั้งจะจัดทำเป็นรูปพื้นหลังเพื่อที่คณาจารย์และนิสิตจะนำไปใช้ในการเสนอผลงานต่างๆ นอกจากนั้น ยังได้ใช้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวในการออกแบบสินค้าที่ระลึกเพื่อสร้างสำนึกองค์กรในโอกาสครบรอบหนึ่งศตวรรษ