รำลึกถึงเทวาลัยถิ่นอักษร
Reminiscence of the Divine Abode

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ข้าพเจ้าสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ เหตุผลใหญ่ที่สอบเข้าคณะนี้ ก็คงเหมือนกับคนอื่น ๆ คือเป็นคณะที่คะแนนสูงสุด อีกประการหนึ่งในช่วงที่สอบเข้าข้าพเจ้าไม่ค่อยสบายจึงเลือกคณะที่ไม่ต้องสอบหลายวิชา และไม่ต้องสอบวิชาพิเศษ ถ้าสบายดีคงต้องเลือกคณะที่มีวิชาพิเศษ เช่น โบราณคดี หรือ ครุ-พละเอาไว้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าคงต้องติดอักษรฯ เพราะคะแนนออกมาไม่เลวนัก

จำได้ว่าเมื่อประกาศผลการสอบ หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า “ที่หนึ่งตกอันดับ” เนื่องจากข้าพเจ้าสอบชั้น ม.ศ. ๕ ได้ที่ ๑ แต่มาเข้าคณะอักษรศาสตร์ได้เป็นที่ ๔

การเรียนปีที่ ๑ เป็นปีที่ข้าพเจ้าคิดว่าเรียนลำบาก แต่ก็ตื่นเต้น ท้าทายและสนุกสนาน เพราะว่าจะต้องทำความรู้จักกับอาจารย์และเพื่อนใหม่ ๆ มากมาย ทั้งเพื่อนในคณะและต่างคณะ ทั้งที่เป็นรุ่นพี่และรุ่นเดียวกัน บางทีก็จำไม่ได้ แต่ก่อนเคยอยู่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งมีนักเรียนน้อยรู้จักกันหมดทุกคน นับว่า ต้องปรับตัวมากอยู่ มานึกย้อนหลังแล้วรู้สึกว่าครูบาอาจารย์เพื่อนฝูง เขาก็อดทนกับข้าพเจ้าพอใช้ ข้าพเจ้ามักพูดช้าตะกุกตะกัก เขาก็ยอมฟังดี นาน ๆ ก็ว่าเอาบ้างว่าพูดแบบนี้น่ารำคาญ ต่อมาข้าพเจ้าพูดดีขึ้นก็ชมเชย ครั้นพูดได้ดีแล้ว ข้าพเจ้าเลยไม่ยอมหยุดพูด กลายเป็นคนพูดมาก ทุกชั่วโมงต้องหาเรื่องพูดในห้อง ซักถามอาจารย์บ้าง ตอบคำถามบ้าง

การพยายามจดจำชื่ออาจารย์และเพื่อน ๆ ให้ได้ บางทีก็ยากสำหรับผู้มาใหม่ อาจารย์บางท่านมีหลายชื่อ ทั้งชื่อจริงและชื่อที่นิสิตตั้ง ก็ต้องจำให้ได้ทั้งสองชื่อหรือหลายชื่อ เมื่อพี่ใช้ให้ส่งหนังสือตามโต๊ะจะได้ส่งถูก สำหรับเพื่อนในวันแรก ๆ ก็จำไม่ได้เช่น ฝาแฝด ป้อม-อ้วน มาคนละทีก็ไม่ทราบว่าใครเป็นป้อมใครเป็นอ้วน

ระหว่างที่เรียนตั้งแต่ปีหนึ่ง ข้าพเจ้าต้องตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปต่างจังหวัด ไม่สามารถอยู่เรียนได้ครบถ้วน ข้าพเจ้าต้องทำหนังสือราชการขอมหาวิทยาลัยไม่ให้นับเวลาเรียน ซึ่งเขาก็ไม่นับ ถ้าเขานับข้าพเจ้าก็ต้องออกไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิด วิธีการเรียนของข้าพเจ้าคือส่งคนมาอัดเทปไปฟังเวลาอยู่ต่างจังหวัด ข้าพเจ้าส่งการบ้าน รายงาน และเข้าสอบเหมือนนิสิตอื่น ข้าพเจ้าเรียกอาจารย์ที่พูดในเทปทั้งหลายว่า เทปาจารย์ อันเป็นคำสมาสของคำว่าเทปกับอาจารย์ การเรียนด้วยเทปาจารย์นั้นไม่สนุกเหมือนเรียนกับอาจารย์จริง ๆ ถามก็ไม่ได้ ไม่เห็นภาพ ไม่เห็นกระดาน สมัยนั้นวีดีโอเทปยังไม่แพร่หลาย การคมนาคมก็ไม่สะดวกเหมือนในปัจจุบัน กว่าจะได้รับเทปก็หลายวัน เคราะห์ดีมีพวกเพื่อนช่วยเก็บเอกสาร ช่วยจดให้ เวลากลับกรุงเทพฯ ก็ช่วยสอนช่วยติวให้ อะไรที่ข้าพเจ้าเก่งก็ช่วยทวนและเก็งข้อสอบให้เพื่อน ๆ ข้าพเจ้าเคยเก็งข้อสอบอย่างถูกต้อง ทำให้อาจารย์ตกใจนึกว่าข้อสอบรั่ว ข้าพเจ้าเก็งข้อสอบได้ แต่ก็ตอบไม่ได้ ต้องถามอาจารย์ คิดว่าท่านคงลำบากใจพอใช้เวลาอธิบายให้ข้าพเจ้า เรื่อง การสอนหนังสือกันเองนั้น มีอาจารย์ท่านหนึ่งบ่นว่านิสิตนี้แปลก มีปัญหาอะไรแทนที่จะมาถามครูบาอาจารย์ซึ่งมีหน้าที่สอน กลับชอบถามกันเอง ข้าพเจ้าก็ชอบฟังรุ่นพี่ฟังเพื่อน การติวกันเช่นนี้ทำให้เห็นว่าไม่จริงเสมอไปที่การศึกษาระบบหน่วยกิตทำให้นิสิตขาดความสามัคคีกันแกล้งกันเพราะต้องแข่งขันเท่าที่เรียนมาเห็นพวกเพื่อนช่วยกันทุกคน

สรุปได้ว่าข้าพเจ้าเรียนกับเทปาจารย์เสียมากกว่าเรียนกับอาจารย์ธรรมดา ตัวข้าพเจ้าเองไม่ชอบนัก แต่พวกที่อยู่ด้วยเขาชอบบอกว่า ทำให้ได้เรียนด้วย ดังนั้นถือได้ว่า คณะอักษรศาสตร์ได้จัดระบบมหาวิทยาลัยเปิดแบบตลาดวิชาการศึกษาระยะไกล (ไกลจริง ๆ นั่งเครื่องบินสมัยนั้นหลายชั่วโมง) มานานแล้ว วิชาที่ข้าพเจ้าเรียนใช้ระบบนี้ได้ดี ใช้อ่านหนังสือฟังเทปก็พอ ถ้าเรียนอย่างอื่นก็ต้องปฏิบัติการต้องอยู่มหาวิทยาลัย

กิจกรรมต่าง ๆ ในขณะที่เรียนมีหลายอย่าง ทั้ง กิจกรรมระยะสั้นและระยะยาว มีงานพัฒนาคณะกวาดถู ปราบที่ ปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นงานที่ข้าพเจ้าถนัดอยู่แล้ว การเป็นพี่เลี้ยงเด็ก คือเลี้ยงพวกลูกอาจารย์ งานชมรมมีอยู่หลายอย่าง แต่ที่ทำมากที่สุดคือ ชมรมดนตรีไทย ข้าพเจ้าเล่นดนตรีไทยทั้งที่ชมรมและที่คณะอักษรศาสตร์ กิจกรรมชมรมดนตรีไทยที่ถนัดไม่ยักใช่การเล่นดนตรี กลับเป็นการจัดอาหารเวลามีงานพิธีไหว้ครู ข้าพเจ้ามักอยู่ฝ่ายโภชนาการ

ที่คณะอักษรศาสตร์มีการทำหนังสือ ซึ่งมีงานให้ทำหลายอย่าง คือ

๑. เขียนเรื่องสำหรับลงหนังสือ
๒. เที่ยว “หาเรื่อง” หรือตามทวงเรื่องที่อาจารย์หรือคนอื่น ๆ สัญญาว่าจะเขียน
๓. หาสปอนเซอร์ หาโฆษณา
๔. ติดต่อโรงพิมพ์
๕. พิสูจน์อักษร เวลาเจอที่พิมพ์ผิด หนังสือออกมาแล้วก็ต้องมานั่งแก้กัน ที่ร้ายแรงที่สุดคือ มีบทความที่เกี่ยวกับภาษาฝรั่งเศส ซึ่งพิมพ์โดยไม่มีเครื่องหมาย accent ต้องมานั่งเติมเองทั้งหมด ๒,๐๐๐ เล่ม
๖. เป็นฝ่ายศิลป์เสียเอง (บางที)

กิจกรรมแต่งกลอน น้องใหม่ตอนปีหนึ่งจะต้องแต่งกลอน โคลง กาพย์ ฉันท์ ตามหัวข้อที่เขากำหนด เล่นกันเป็นทีม จะต้องซ้อมทุกวัน โดยที่พวกพี่ ๆ สอน แต่ก่อนแต่งฉันท์ไม่ค่อยเป็น มาแต่งได้ตอนนี้ ปีที่ข้าพเจ้าอยู่ปี ๑ อักษรฯ ครองถ้วยร่วมกับคณะบัญชี แต่งกันว่าอย่างไรก็จำไม่ได้แล้ว หากระดาษที่จดไว้ไม่พบ ไพล่ไปจำกลอนที่คณะ “ถาปัด” แต่งตามหัวข้อ “ดูหนังดูละครย้อนดูตัว” ว่า

“ไปดูหนังลิโด้โอ้เข้าท่า
มันเป็นบ้านั่งหลับนอนทับเบาะ
เพลงประกอบในหนังช่างไพเราะ
เรื่องเจ้าเงาะขี่ควายขายโรตี
ดูหนังดูละครย้อนดูตัว
รูปไม่ชั่วแสนหล่อถาปัดนี่
………………………….
………………………….
(ต่อไปจำไม่ได้)

ในด้านกิจกรรมกีฬานั้น ข้าพเจ้าไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องมากนักทั้ง ๆ ที่ก่อนเข้าจุฬาฯ เป็นนักกีฬาหลายประเภท ต้องซ้อมกีฬาทุกวัน ตอนเข้าอักษรฯ ใหม่ ๆ ข้าพเจ้าไม่ค่อยสบายจริง ๆ แต่ต่อมาก็ไม่ได้เป็นอะไร อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าทำตัวเป็นคนพิการเดินไม่ค่อยไหว กินยาลม จนใคร ๆสงสาร ถ้าขืนไปใจอ่อนยอมเล่นกีฬาก็จะเอาจริงเอาจังเรียกว่าผีกีฬาเข้าสิงไม่เป็นอันเรียนยิ่งหาเวลาเรียนได้น้อยอยู่แล้ว ถ้ามีโอกาสพิเศษก็เล่นเหมือนกัน ไม่ได้เล่นมากเท่าที่เคย ได้เล่นแต่ชักเย่อ แชร์บอล และฟุตบอล เมื่อตอนอยู่โรงเรียน ครูพละเคยชวนว่า ถ้าเข้าจุฬาฯ ได้ให้ไปเล่นวอลเลย์บอล เพราะข้าพเจ้าเล่นได้ดีมาก จริง ๆ เข้าแล้วไม่ได้เล่นเลย

นอกจากที่กล่าวมายังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายข้าพเจ้าชอบไปลองทำโน่นทำนี่ช่วยเขาไปเรื่อย ๆ จนมีคนถามว่าเรียนวิชาเอก วิชาโท อะไรกันแน่ เห็นเดินไปทั่วคณะ (แบบผู้กว้างขวาง) ช่วยจัดนิทรรศการต่าง ๆ เขียนโปสเตอร์ จัดดนตรี ร้องเพลงลูกทุ่ง (เงินล้าน) จนแม้แต่ร้องเพลงฝรั่งเศสของชมรมภาษาฝรั่งเศส หรือจัดทัวร์ (เป็นคนจัดแต่ตัวเองไม่ได้ไป) ข้าพเจ้ารู้จักคนในคณะอักษรฯ มากมาย ทั้งอาจารย์ เพื่อนรุ่นพี่ รุ่นน้อง เห็นจะเป็นเพราะข้าพเจ้าไม่ค่อยจะมุ่งเรียนวิชาอะไรโดยเฉพาะ ชอบไปคุยกับเขาทุกภาควิชา (แต่ก่อนเรียกแผนก) พวกเพื่อนก็ชอบไปหมดทุกกลุ่ม นอกจากอาจารย์และนิสิตแล้วยังมีภารโรงและพนักงานอื่น ๆ ซึ่งล้วนแต่เอื้อเฟื้อข้าพเจ้ามาตลอด พวกที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะเรานอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมี พวกที่ขายอะไรต่อมิอะไร ยกตัวอย่างเช่น นายเทียมมี่ เจ้าของฝรั่งดองคนดัง คนขายเต้าฮวย เดิมข้าพเจ้ารับประทานเต้าฮวยไม่เป็น เพิ่งเป็นที่คณะนี้เอง แขกขายโรตีสายไหม โรตีเจ้านี้อร่อยมากแต่ก็ขายแพง ราคาอันละบาทถือว่าแพงในสมัยนั้น อาหารประชาสงเคราะห์ยังจานละบาท ตอนหลัง ๆ มีรถมาขายโรตี สุดท้ายขายดีจนมีค่าเครื่องบินกลับไปอินเดีย แขกขายถั่วมัน ๆ ยิ่งดีใหญ่ เขาเป็นคนรื่นเริง ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ มีอาจารย์ท่านหนึ่งพูดภาษาอินเดียได้ เลยได้กินถั่วฟรีบ่อย ๆ วันหนึ่งข้าพเจ้าไปซื้อถั่วบอกว่า “บัง ถ้าไม่ร้องเพลงแขกให้ฟัง ไม่ซื้อถั่วนะ” อาบังบอกว่าได้ แล้วเริ่มร้องเพลงร่ายรำพลางตีโต๊ะขายถั่วเป็นจังหวะแทนกลอง ข้าพเจ้าว่าเพราะดีเสียแต่แกเล่นร้องไปเรื่อย ๆ ไม่ยอมจบ จนรถมารับข้าพเจ้า (ขนาดวันนั้นเขามาช้า) เลยต้องบอกอาบังว่า “บังหยุดเสียทีซีฉันจะกลับแล้ว” อาบังจอมศิลปินไม่ยอมหยุดร้องเพลง ไม่เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าซื้อถั่ว ยกโต๊ะขายถั่วขึ้นทูนหัวเดินจากไปพลางโบกมือให้ข้าพเจ้าอย่างอารมณ์ดี ขนมอีกเจ้าที่ข้าพเจ้าอุดหนุนเป็นประจำ เป็นของพวกเด็ก ๆ มีหลายคนเขาเล่าว่ามีพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คนด้วยกัน ช่วยกันขายของ ที่ข้าพเจ้าจำได้มี ตุ๊กตา ไก่ ฝน พวกเด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนก็คิดเงินเก่ง ทอนสตางค์ได้อย่างถูกต้องและคล่องแคล่ว ตอนแรกก็เป็นลูกค้าธรรมดา ๆ ต่อมาเป็นลูกค้าประจำและเป็นเพื่อนกันไปในที่สุด

การขายอาหารและขนมยังไม่จบ ขืนกล่าวต่อไปคงไม่มีเรื่องอื่นนอกจากของกิน ข้าพเจ้าคิดว่าไม่จำเป็นนักที่ข้าพเจ้าจะบรรยาย เพราะเมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าถามน้องใหม่อักษรฯ เรื่องอาหารในคณะอักษรฯ ก็ยังบรรยายได้ดีที่คณะเรานอกจากจะมีสมาชิกที่เป็นคนแล้ว ยังมีหมาอีกหมายตัว เช่น คุณหมี เป็นหมาสีดำตัวใหญ่ เป็นของภารโรง คุณหมีนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นใหญ่เป็นโตมากที่สุดในบรรดาหมาที่คณะได้ข่าวว่าเวลานอนก็ต้องนอนมุ้ง เวลามีเรียนค่ำ ๆ คุณหมีไม่ได้เข้ามุ้งจะถูกยุงกัดมากกว่าคนอื่นและตัวอื่น

มากาเร็ต เป็นเจ้าถิ่น อยู่มานานแค่ไหนไม่มีใครทราบ สีอะไรบอกไม่ได้แน่ สันนิษฐานว่า เคยเป็นสีขาว ขนยาว ส่อว่าเป็นลูกครึ่ง ความที่เธอไม่ยอมอาบน้ำจึงมอมแมม แถมมีกลิ่นแรง ข้าพเจ้าเคยท้าเพื่อนว่าใครเอามากาเร็ตไปอาบน้ำได้จะมีรางวัล ปรากฏว่าคนที่พยายามเอารางวัลถูกงับไปตาม ๆ กัน ไม่มีใครได้รางวัล ที่ข้าพเจ้าจะต้องเป็นธุระในเรื่องหาคนอาบน้ำให้มากาเร็ต เพราะมากาเร็ตมีความสนใจเรียนวิชาที่ข้าพเจ้าเรียน ถึงชั่วโมงภาษาบาลีและปรัชญากรีก เธอจะมานอนทับบนเท้าข้าพเจ้า ถ้าขยับหนีก็จะฮื่อใส่ เมื่อหมดชั่วโมงก็จะลุกไปเอง ท่านอาจจะถามว่า ในเมื่อข้าพเจ้าอยากให้มากาเร็ตอาบน้ำ ทำไมไม่อาบให้เสียเอง ต้องสารภาพว่าเคยพยายามแล้ว แต่ไม่สำเร็จ แสดงว่าไม่ได้มีเมตตามหานิยมอะไรเป็นพิเศษ

ยังมีหมาสีแดง สีเขียว อีกหลายตัว ข้าพเจ้าไม่ทราบชื่อ ดูเหมือนจะเคยตั้งให้บ้าง แต่ก็ลืมไปแล้วว่าตั้งให้ว่าอย่างไร มีอยู่ตัวหนึ่งเป็นนักเลงโต อยู่ที่โรงอาหาร ใครจะกินอาหารเขาต้องมาล้มทับกินฟรี โดยตบโต๊ะที่สั่งอาหาร ถ้าไม่ส่งให้หรือแบ่งให้ก็มีเรื่องกัน หมาเหล่านี้ฉีดยากันโรคกลัวน้ำแล้วทุกตัว มีอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นธุระในเรื่องนี้

เพื่อนข้าพเจ้านอกจากสุนัขยังมี พญานาคที่เป็นคันทวยที่ตึก ๑ เวลาเรียนข้าพเจ้าต้องหาโอกาสมองออกมานอกประตูห้องยิ้มทักทายพญานาค บางทีรู้สึกว่าพญานาคยิ้มตอบด้วย

สรุปแล้วข้าพเจ้าอยู่คณะอักษรฯ หลายปี เรียนปริญญาตรี ๔ ปี เรียนปริญญาโทอีก ๔ ปี มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นหลายอย่างจนไม่ทราบว่าจะลำดับความอย่างไร ถ้านึกจะเขียนอัตชีวประวัติ แค่ประวัติที่คณะอักษรฯ จุฬาฯ ก็คงมีความยาวหลายเล่มสมุดไทย

เมื่อไม่นานมาแล้วมีน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งทุกท่านคงได้รับความเดือดร้อนไปตาม ๆ กัน จุฬาฯ ก็มีส่วนในการศึกษาภาวะน้ำท่วมด้วย แต่ในครั้งนี้ดูเหมือนว่าจุฬาฯ จะไม่ถูกน้ำท่วม ซึ่งเคยโดนเมื่อครั้งข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ ระยะนั้นฝนตกหนัก น้ำขึ้นสูง เวลาฝนตกข้าพเจ้าชอบใส่เสื้อฝน พวกเพื่อน ๆ เห็นก็หัวเราะเอาทุกที แต่ข้าพเจ้าว่าดีคือไม่ต้องเปียกฝน บางทีฝนตกมากน้ำท่วมทางเดินต้องเดินลุย ภารโรงเขามีแก่ใจช่วยเอาร่มชายหาดคันใหญ่ ๆ มากางรับเข้าในตัวตึก ยังไม่ทันจะไปถึง ได้ยินเสียงรุ่นพี่ตะโกนร้องบอกกันว่า “วันนี้เสด็จทางชลมารค” บางครั้งน้ำท่วมมาก การเดินทางลำบากอาจารย์จะมาสอนก็ลำบาก จนต้องเลื่อนสอน วันหนึ่งเห็นอาจารย์รองเดินลุยน้ำหิ้วรองเท้ามา เลยนึกถึงว่าเขามีโครงการ Barefoot doctor กัน เราก็มี Barefoot professor!

ในด้านวิชาการนั้น บอกได้ว่าความรู้ทุกอย่างมีประโยชน์และได้ใช้ในการทำงานทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ บางทีก็นึกเสียใจว่าเวลาเรียนควรจะตั้งใจมากกว่านี้ จะได้ความรู้อีกมาก แม้แต่งานพัฒนา งานเกษตร ก็ใช้พื้นความรู้จากที่เรียนมา งานสอนหนังสือก็เอาความรู้ไปสอนต่อ เวลาเขียนหนังสือก็ต้องใช้ความรู้หลายสาขาที่เรียนมาเข้าช่วย คนเขามักจะหวังว่าคนจบอักษรฯ จะต้องเขียนหนังสือได้ดี แต่งคำประพันธ์ได้ทุกอย่าง จึงถูกใช้อยู่เรื่อย และต้องทำให้ได้ นอกจากวิชาที่เป็นทฤษฎีแล้ว ครูอาจารย์หลายท่านได้กรุณาอบรมสั่งสอน ชี้แนะข้อคิดที่ดี เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างยิ่ง จะไม่กล่าวรายละเอียดในเรื่องนี้อีกเพราะเคยกล่าวในการอภิปรายที่ศูนย์สารนิเทศแล้ว

นอกจากความรู้และแนวคิดจากการเรียนในคณะอักษรฯ แล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ข้าพเจ้ายังได้ขอคำปรึกษาจากอาจารย์ในคณะ และขอร้องให้ช่วยทำอะไร ๆ ให้ พวกเพื่อน ๆ คณะอักษรฯ ก็ช่วยงานหลายด้าน ในด้านให้ข้อมูลก็เป็นประโยชน์มาก อยากจะรู้อะไรก็ไม่ต้องอ่านหนังสือหรือเที่ยวหาหนังสือเอง ใช้ถามเพื่อนที่มีความชำนาญแต่ละอย่างช่วยเป็นเลขากิตติมศักดิ์บ้างก็มี ช่วยกันทำมาค้าขาย (การกุศลทั้งนั้นไม่ได้เข้ากระเป๋า!) ช่วยในการงานต่าง ๆ เรื่องราวในคณะอักษรฯ ยังมีอีกเยอะ เขียนเท่าไรก็ไม่จบถ้าจะเอาทั้งหมดที่นึกได้ คราวนี้เขียนได้น้อยมาก และภาษาไม่สละสลวยสมเป็นนักอักษรศาสตร์ก็เพราะว่าอาจารย์บรรณาธิการท่านทวง (ดูซิไปโทษท่าน!)

พิมพ์ครั้งแรกในอักษรศาสตรบัณฑิต ๕๐ ปี กรุงเทพ : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๒๙
พิมพ์ครั้งที่ ๒ ใน มณีพลอยร้อยแสง รวมพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พิมพ์ครั้งที่ ๓ พระราชทานพระราชานุญาตให้ลงพิมพ์ในนิตยสาร “จามจุรี” ฉบับปฐมฤกษ์ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๐