โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม ประจำเดือนเมษายน 2564 เรื่อง “มองโรคเอดส์ (AIDS) และไวรัส HIV ผ่านวรรณกรรมสเปนร่วมสมัย”

วันที่ 29 เมษายน เวลา 14.00-15.30 น. คณะอักษรศาสตร์ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อเรื่อง “มองโรคเอดส์ (AIDS) และไวรัส HIV ผ่านวรรณกรรมสเปนร่วมสมัย” โดย อ. ดร.นรุตม์ เจ้าสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันตก สาขาวิชาภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ ผศ.ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็น ผู้ดำเนินรายการ 

แรกเริ่มการบรรยายอาจารย์กล่าวถึง ที่มาและลักษณะของโรคเอดส์ (AIDS) ว่าเป็นโรคระบาดที่ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1981 และการติดเชื้อไวรัส HIV ไม่เท่ากับการเป็นโรคเอดส์ ที่ผ่านมามีการพัฒนาคิดค้นเพื่อหาแนวทางในการรักษา เช่น HAART PrEP เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ HIV และเพื่อไม่ให้เชื้อเกิดการแพร่กระจายจนกลายเป็นโรคเอดส์ ทั้งยังกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ในสเปน ตั้งแต่หลัง ค.ศ. 1975 การเปลี่ยนแปลงการปกครองรูปแบบต่างๆ ที่ส่งผลต่อสภาพสังคม พร้อมทั้งการส่งต่อแนวคิดจากอเมริกาที่มองว่าเอดส์เป็นโรคของกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกัน (Gay cancer) การยกเลิกกฎหมายที่คอยกดบทบาทของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ให้อิสระในการใช้ชีวิต กลุ่มวัยรุ่นเริ่มใช้ชีวิตแบบสุดโต่ง ทำให้การใช้ยาเสพติดแพร่หลายได้ง่ายดายมากขึ้น เกิดเป็นปรากฎการณ์ต่างๆ เช่น Destape, Movida madrileña, Ruta de Bakalao ที่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสถิติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ที่เพิ่มมากขึ้นในสเปน 

ถัดมาอาจารย์นรุตม์ได้กล่าวถึง วรรณกรรมสเปนที่เกี่ยวข้องกับโรค AID (SIDA ในภาษาสเปน) และเชื้อ HIV (VIH ในภาษาสเปน) โดยแบ่งงานวรรณกรรมออกเป็นสองช่วงได้แก่ PRE-COCKTAIL (1981-1996) ยุคที่เกิดก่อนการคิดค้นยาต้านเชื้อไวรัส และ POST-COCKTAIL (1997-ปัจจุบัน) หลังการคิดค้นยาต้านไวรัส พร้อมมีการยกตัวอย่างรายชื่องานวรรณกรรม ที่มีความหลากหลายกันไปทั้งการใช้ภาษาและเนื้อเรื่อง เช่น เรื่อง Muerte de los primogénitos หนังสือรวมกลอนที่อ้างอิงเนื้อหาจากคัมภีร์ทางศาสนาคริสต์ที่ผู้เขียน Ana Rossetti นำมาเสียดสีสังคมปิตาธิปไตย เนื่องจากเธอมองว่าศาสนามีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนแนวคิดปิตาธิปไตยให้ยังเกิดขึ้นในสังคมอยู่ โดยการนำแนวคิดเรื่อง ความรัก โรคเอดส์ และ ความตายมาเชื่อมโยงกับคำสอนทางศาสนาให้เห็นผ่านงานวรรณกรรมเล่มนี้ และวรรณกรรมเรื่อง Las virtudes del páiaro solitario โดย Juan Goytisolo ตัวงานเขียนเองมีความซับซ้อนอย่างมาก การบรรยายผ่านตัวละครที่ไม่มีชื่อ ไม่มีเนื้อเรื่อง อาศัยการเปรียบเปรยผ่านแนวคิดความเชื่อทางศาสนาพร้อมการใช้สัญญะในการสื่อสาร เช่น การตกลงมาของนกเทียบกับซาตาน การเกิดขึ้นของโรคระบาด การกล่าวถึงลักษณะอาการที่ทำให้ผู้อ่านสามารถอนุมานได้ว่าผู้เขียนนั้นกล่าวถึงโรคเอดส์ อีกทั้งงานเขียนชิ้นนี้มีลักษณะแบบ Experimental novel ซึ่งเป็นลักษณะนิยายที่ผู้เขียนใช้เพื่อสื่อสารถึงประเด็นต่างๆ ที่ไม่สามารถถ่ายทอดได้หากเป็นงานเขียนลักษณะทั่วไป แสดงให้เห็นถึงการกดทับที่เกิดขึ้นกับโรคเอดส์ในสังคมสเปนยุคนั้น นอกจากนี้ อาจารย์ยังมีการยกตัวอย่างถึงวรรณกรรมชิ้นอื่นๆ ที่ตีแผ่เรื่องราวของโรคเอดส์ผ่านมุมมองอื่นๆ อีกด้วย เช่น Intersecciones, O YACOI, La conspiración del sida เป็นต้น 

ถัดมาได้กล่าวถึงวรรณกรรมช่วง POST-COCKTAIL (1997-ปัจจุบัน) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังจากมีการคิดค้นยาต้านไวรัส ลักษณะงานวรรณกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีการใช้ภาษาถิ่นในงานเขียนมากขึ้น อิสระในงานเขียนมีมากขึ้น เนื่องจากมุมมองของสังคมที่เปลี่ยนไปต่อโรคเอดส์ ตัวอย่างงาน เช่น Sero (2008) โดย Ibon Larrazabal ในเนื้อเรื่องมีการวิพากษ์สังคมผ่านการกล่าวถึงลักษณะของโรคเอดส์ เชื้อไวรัส และยารักษา โดยวิเคราะห์ร่วมกับแนวคิดทุนนิยมในสังคม  

ท้ายนี้ อาจารย์ได้ยกตัวอย่างงานเขียนที่เริ่มมีลักษณะการเล่าผ่านมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนมากขึ้น (Personal narrator) เช่น Futuro imperfecto (2010) เขียนโดย Xulia Alonso Diaz เธอได้เล่าเรื่องราวของชีวิตตัวเองและสามีผ่านงานวรรณกรรมเล่มนี้ การต่อสู้กับโรคเอดส์ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและทัศนคติต่อโรคเอดส์ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในสังคมสเปนแต่ละยุคสมัยก็ได้ถูกถ่ายทอดผ่านงานวรรณกรรมต่างๆ ที่อาจารย์ได้ยกตัวอย่างมา 

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านการรับฟังและรับชมคลิปกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านลิงก์ของ Facebook Live ที่นี่

ภาพบรรยากาศการบรรยาย 

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง