ประวัติสาขาวิชาภาษาเยอรมัน

การเรียนการสอนวิชาภาษาเยอรมันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มต้นเมื่อปีพุทธศักราช 2463 ซึ่งนับเป็นเวลา 3 ปีหลังจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม วิชานี้ปิดสอนไปเนื่องจากเกิดสงคราม จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2495 เมื่อประเทศไทยได้เปิดสัมพันธไมตรีทางการทูตกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การเรียนการสอนภาษาเยอรมันจึงเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง ในเวลานั้น นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการแล้ว ยังมีการค้าและการท่องเที่ยวเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียนการสอนภาษาเยอรมันได้รับความนิยม ในปีพุทธศักราช 2500 องค์การแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมนี (DAAD) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันมาเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จึงถือว่าปีนั้นเป็นปีที่สาขาวิชาภาษาเยอรมันก่อตั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ

ในระยะแรก หลักสูตรการสอนเป็นการสอนภาษาเพียงอย่างเดียว มีการเปิดรายวิชาภาษาเยอรมันเป็นวิชาเลือกสำหรับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ และครุศาสตร์ วิชาส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการฝึกใช้ภาษา ต่อมาจึงเริ่มมีการนำเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวรรณคดีเข้ามาสอนในหลักสูตร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2505 สาขาวิชาภาษาเยอรมันได้เปิดสอนวิชาภาษาเยอรมันเป็นวิชาเอกในคณะอักษรศาสตร์ หลักสูตร 4 ปีนี้แบ่งออกเป็น 3 แขนงใหญ่ๆ คือ ภาษา วรรณคดี และความรู้เกี่ยวกับประเทศเยอรมนี ในช่วงแรกของหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเยอรมัน นิสิตจะศึกษาวิชาการใช้ภาษาเป็นหลัก จากนั้นตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 นิสิตจะได้ทำความรู้จักกับวรรณคดีเยอรมันและเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเยอรมนี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นิสิตได้มีความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีเยอรมันและเข้าใจเรื่องราวและวัฒนธรรมของประเทศเยอรมนีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในปีพุทธศักราช 2517 สาขาวิชาภาษาเยอรมันได้เปิดหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตเพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตได้ศึกษาภาษาและวรรณคดีเยอรมันอย่างลึกซึ้งเพิ่มเติม

สาขาวิชาภาษาเยอรมันได้พัฒนาทั้งบุคลากร หลักสูตร ความเป็นวิชาการและความเป็นนานาชาติตลอดมาเป็นระยะเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษ และในปีพุทธศักราช 2549 ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเยอรมัน ซึ่งถือเป็นหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเยอรมันหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวที่เปิดสอนในประเทศไทยรวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 

An der 1917 gegründeten Chulalongkorn Universität fand 1920 der erste Deutschunterricht in Thailand statt. Mit dem ersten DAAD-Lektor Dr. Georg Heuser wurde ab 1957 am Wiederaufbau der Deutschabteilung und an der Entwicklung des ersten Curriculums gearbeitet. Fünf Jahre später (1962/63) absolvierten erstmals Studierende den Bachelorstudiengang Germanistik. 1974 folgte der erste Masterstudiengang und seit 2006 ist auch eine Promotion im Fach Germanistik möglich. Die Chulalongkorn Universität ist somit die einzige Hochschule in Südostasien, die einen Promotionsstudiengang in der Germanistik anbietet.

Die Deutschabteilung besteht zurzeit aus 7 Mitarbeitenden (darunter eine Muttersprachlerin), die gut 45 Germanistikstudierende und zahlreiche Studierende anderer Fakultäten unterrichten.