สังคมอักษรศาสตร์

กลับหน้าหลักสังคมอักษรศาสตร์

สมรักษ์ ณรงค์วิชัย
หัวหน้าคณะผู้บริหารสายการผลิตรายการ
BEC WORLD PUBLIC COMPANY LIMITED

“เทคโนโลยี ทำให้จินตนาการของละคร ไร้ขีดจำกัด”

A-List ประจำฉบับนี้ มีโอกาสได้พูดคุยกับชาวอักษรฯ ผู้เป็น ‘หนึ่งในยุทธจักร’ วงการละครโทรทัศน์ของเมืองไทย ที่ได้ร่วมพัฒนาวงการอยู่กับสถานีที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านละครของไทย ... คุณสมรักษ์ ณรงค์วิชัย (อบ. 38) หัวหน้าคณะผู้บริหารสายการผลิตรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่มาเปิดใจเล่าให้ชาวอักษรสัมพันธ์ฟังถึงความสำเร็จที่เกิดจากพื้นฐานความเป็น “คนอักษรศาสตร์”

พัฒนาการของละครโทรทัศน์ไทย และทิศทางการเติบโต

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ละคร คือการเล่าเรื่องของ “มนุษย์” ซึ่งเนื้อหาของละครคือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเรา หรืออาจจะเป็นการรวบรวมข้อมูลจากประวัติศาสตร์ ... ส่วนในแง่ของบทละครนั้นเนื้อหาละครในสมัยก่อนก็จะเป็นแนวเพ้อฝัน สวยงาม ตัวละครขาวเป็นขาว ดำเป็นดำ เป็นความบันเทิงซึ่งดูแล้วจิตใจสูงส่งขึ้น แต่ในแง่ของการพัฒนา ปัจจุบันตัวละครมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เป็นเนื้อหาที่จับต้องได้มากขึ้น ตัวละครสมัยใหม่ต้องมีทั้งขาว ทั้งดำ และสีเทา ดังนั้นพัฒนาการอย่างแรกเลยคือเรื่องของการเขียนบท ซึ่งสมัยก่อน บทละครทีวี บทละคาครวิทยุ หรือบทภาพยนต์ จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่เดี๋ยวนี้บทละครทีวีกับบทภาพยนต์แทบจะแยกไม่ออก นี้คือพัฒนาการที่ชัดเจน

ในส่วนของนักแสดงเองก็แตกต่างไปจากเดิม เช่น นางเอก ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีเสมอไป อาจจะมีร้ายบ้าง นิสัยไม่ดีบ้าง ให้คนดูเห็นว่านักแสดงแต่ละคนมีอะไรให้ดูในหลาย ๆ ด้าน เป็นความท้าทายของตัวนักแสดงเอง พร้อมที่จะเล่นสารพัดบทบาท มีโอกาสทำอะไรใหม่ ๆ ไม่จำเจ นักแสดงพร้อมที่จะเล่นเป็นตัวที่สูงอายุกว่าตัวเอง พร้อมที่จะต่างหน้า พร้อมที่จะแสดง ถือเป็นความท้าทายในการทำงาน

ในเรื่องของการถ่ายทำ เทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนพัฒนาวงการละครเป็นอย่างมาก เรามีการใช้โดรนถ่ายทำ ทำให้เห็นภาพสวย ๆ ที่ไม่เคยได้เห็นกันมาก่อน เรามีกล้องเล็ก ๆ ที่สามารถซ่อนในที่แคบ ๆ ได้ เรามีเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ทั้งหมดนั้น ช่วยให้จินตนาการไร้ขีดจำกัดในแบบที่เมื่อก่อนทำไม่ได้เพราะขาดเทคนิคที่จะมาช่วย

ปัจจุบันเนื้อหาของละคร จะต้องสนุกด้วย ในขณะเดียวกันก็มีสาระ สะท้อนภาพจริงของสังคม ปัญหาของสังคม เพื่อให้เกิดการวิพากษ์ เพื่อนำไปต่อยอด และเสนอทางออกให้ปัญหา เช่นเรื่องของโรคจิต ที่คนเคยคิดว่า คนเป็นโรคจิต คือคนบ้า แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ละครสามารถสะท้อนมุมมองนี้ออกไปให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้ อย่างเรื่อง วัยแสบสาแหรกขาด ที่เราได้รับผลตอบรับอย่างดีทั้งจากผู้ปกครองและทางโรงเรียน ซึ่งก็กำลังจะทำภาคต่อ เพราะมีเคสให้เสนอปัญหามากมายในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของการติดเกมส์ ความก้าวร้าว ออทิสติค การฆ่าตัวตาย หรือแม้แต่เรื่องอาชีพของคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเจ้านายตัวเอง แต่ในความเป็นจริงมันมีทั้งคุณและโทษ เราอยากจะทำละครเพื่อเสนอปัญหาพวกนี้และอื่น ๆ พร้อมกับชี้ทางออก เรามีที่ปรึกษาทั้งจิตแพทย์ และนักวิชาการที่พร้อมให้ข้อมูล

ความท้าทายในยุคสื่อไร้พรมแดน

สำหรับความท้าทายสำหรับวงการละครโทรทัศน์ ในยุคสื่อไร้พรมแดนนั้น จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้ช่องทางการดูละคร มีหลากหลาย Platform ทั้งจากอินเทอร์เน็ต จากแอพลิเคชันบนมือถือ หรือดูย้อนหลังจากยูทูป หรืออื่น ๆ อีกมากมาย การที่จะทำให้คนดู ดูละครพร้อมๆ กัน อาจจะทำได้ยาก และการสำรวจความนิยมหรือจำนวนผู้ชมละครก็ยากขึ้น ต้องใช้วิธีที่แตกต่างจากเมื่อก่อน แต่ก็ทำได้ และจากที่เราได้สำรวจจากการชมจากสื่อต่าง ๆ ในเวลาต่างๆ กัน แต่ก็พบว่าจำนวนผู้ชมไม่ได้ลดลงไป แม้จะไม่ได้ดูในเวลาเดียวกันก็ตาม ความท้าทายอยู่ตรงที่จะทำอย่างไรให้คนดูหันมาดูพร้อม ๆ กันหมดในทุกช่องทาง ... แต่อย่างน้อยก็สามารถพูดได้ว่าทีวีไม่ตาย วงการละครยังพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ และจะไม่หยุดนิ่ง โดยมีผู้ชมเป็นตัวกำหนดทิศทางให้เราไปต่อ

การศึกษาด้านละครสมัยนี้กับสมัยแรก ๆ

หลักการข้างในเหมือน ๆ กัน ไม่มีอะไรแตกต่างมากนัก แต่เปลือกนอกต่างกัน เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เราต้องปรับตัวเรียนรู้เด็กใหม่ๆ เช่น เด็ก ๆ สมัยนี้พูดสั้น ๆ คุยไม่ยาว เราก็ต้องตามเขา สอนเขาด้วยการอธิบายสั้น ๆ ไม่ต้องพูดยาว อย่างไรก็ตามสิ่งที่ครูละครสมัยแรกอย่างอาจารย์สดใสสอนไว้ ก็ยังนำมาใช้ในการทำงานเพื่อต่อยอดพัฒนานักแสดงและบุคลากรบันเทิงรุ่นใหม่ ๆ ได้ แม้ปัจจุบันเราจะไม่ได้เปิดโรงเรียนสอนการแสดงแล้ว แต่การฝึกนักแสดงรุ่นใหม่ ๆ ก็ยังคงใช้แนวทางที่ได้รับมาจากอาจารย์สดใส ปัจจุบันเรายังขยายผลออกไปอีกตามขีดความสามารถของเด็ก ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน เด็กบางคนเล่นดนตรีได้ เล่นเปียโนเก่ง แต่งเพลงได้ด้วย เราก็นำเด็กเหล่านี้มาเป็นนักแสดง เขาสามารถร้องได้ เต้นได้ บางคนแต่งเพลงได้ด้วย เป็นการใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ติดตัวเขา มาต่อยอด

เคล็ดลับความสำเร็จ

คงจะมาจากการที่เราได้เรียนภาษาของชาติต่าง ๆ ได้อ่านหนังสือ อ่านวรรณคดีมากมาย สมัยนั้นต้องเรียนทั้งบาลี-สันสกฤต รวมทั้งวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ ได้มีโอกาสอ่านหนังสือนอกเวลามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาการละคร ซึ่งทำให้เราได้รู้จักพื้นฐานเกี่ยวกับมนุษย์ นอกจากนี้วิชาอย่างประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนาเปรียบเทียบ ก็มีอยู่ในบทละคร ซึ่งยิ่งช่วยเสริมความเข้าใจความเป็นไปและธรรมชาติของมนุษย์เป็นการต่อยอดออกไปอีก ... สมัยก่อนเรียนเยอะมากและอ่านเยอะมาก การเรียนอักษรศาสตร์คือการให้พื้นฐานมามากพอที่เราจะนำมาประยุกต์และต่อยอด หล่อหลอมให้เรา “เข้าใจมนุษย์” เราจะเป็นฝ่ายที่พยายามเข้าใจ ไม่ค่อยต่อต้าน และมักจะถนัดในการประสานเพราะเราเข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว คนเราแตกต่างกันแค่ที่ “มุมมอง” เท่านั้นเอง

ฝากถึงนิสิตอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ

การเรียนไมได้อยู่แต่ในกระดาษ แต่มันอยู่รอบ ๆ ตัวเรา เราเห็นอะไร พบอะไร ถือเป็นประสบการณ์ทั้งสิ้น เราต้องพยายามไปเห็นด้วยตา ไปสัมผัสด้วยตนเอง ... ผมมักจะบอกนักแสดงเสมอว่าคุณมีโอกาสได้เดินทางไปในที่ต่าง ๆ ทุกที่ควรเก็บเกี่ยว เรียนรู้ สังเกตการใช้ชีวิตของผู้คน ซึมซับความรู้กลับมา ให้พยายามทำความรู้จักผู้คน ทุกสิ่งสามารถนำมาต่อยอดได้ ผมถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยว การทำงาน หรืออะไรก็ตาม ถือเป็นการเรียนรู้ทั้งหมด