ประวัติ

สาขาวิชาภาษามาเลย์/มลายู
ภาควิชาภาษาตะวันออก  คณะอักษรศาสตร์    ได้เปิดสอนวิชาภาษามลายูตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 โดยก่อนการจัดตั้งสาขาวิชาภาษามาเลย์ขึ้น ในปี 2514 - 2519  ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ได้ให้ความร่วมมือในการอบรมภาษามลายูถิ่น (ภาษามลายูปาตานี) แก่ข้าราชการกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมาได้ย้ายเข้าไปสังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
สาขาวิชาภาษามาเลย์จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2516 และได้เปิดสอนรายวิชาภาษามาเลย์เป็นวิชาเลือกในหลักสูตรปริญญาบัณฑิตเป็นครั้งแรกในปีเดียวกันภายใต้การดำเนินงานของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฉลวย วุธาทิตย์ โดยมีผู้รักษาการหัวหน้าสาขาวิชาคนแรก คือ อาจารย์หัสดิน มะแซ    ต่อมาคณะกรรมการประจำคณะอักษรศาสตร์ได้มีมติบรรจุและแต่งตั้ง       อาจารย์ดร.อาณัติ หมานสนิท เป็นหัวหน้าสาขาวิชาฯเป็นคนแรกพร้อมกับรับผิดชอบสอนรายวิชาภาษามาเลย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 – 2550  
          ปัจจุบัน (ตุลาคม 2556) อาจารย์ดร.นูรีดา หะยียะโกะ เป็นหัวหน้าสาขาวิชาภาษามาเลย์ตามมติคณะกรรมการประจำคณะอักษรศาสตร์ในการประชุมครั้งที่ 20/2550 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550  โดยดูแลรับผิดชอบรายวิชาที่เปิดสอนภายใต้สาขาวิชาภาษามาเลย์ ซึ่งครอบคลุมรายวิชาภาษามลายูมาเลเซีย ภาษามลายูอินโดนีเซีย และ ภาษาอาหรับทุกรายวิชา

ภาคการศึกษาต้น  ปีการศึกษา 2550  ดร.อาณัติ หมานสนิท ได้เปิดสอนวิชาภาษาอาหรับ 1 เป็นครั้งแรก และเมื่อท่านเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2551  ทางสาขาวิชาภาษามาเลย์ได้เชิญ อาจารย์ดุลยวิทย์ นาคนาวา มาเป็นอาจารย์พิเศษสอนรายวิชาภาษาอาหรับต่อจากท่าน
ปี 2553   คณะอักษรศาสตร์ได้บรรจุอาจารย์ ดร.มานพ อาดัม ตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย (สายวิชาการ) เป็นอาจารย์ประจำผู้สอนวิชาภาษาอาหรับ และในปี 2556   คณะอักษรศาสตร์ ได้แยกรายวิชาภาษาอาหรับออกจากสาขาวิชาภาษามาเลย์และได้จัดตั้งสาขาวิชาอาหรับขึ้น โดยได้แต่งตั้งให้ อาจารย์ ดร.มานพ อาดัม เป็นหัวหน้าสาขาวิชาภาษาอาหรับในปีเดียวกัน

ปี 2554     ภาคการศึกษาต้น    คณบดีคณะอักษรศาสตร์ ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ ได้ดำริให้สาขาวิชาภาษามาเลย์เปิดสอนวิชาภาษามลายูอินโดนีเซีย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2518 อาจารย์ ดร.นูรีดา หะยะยะโกะ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสาขาวิชาภาษามาเลย์ในขณะนั้น จึงได้เชิญ อาจารย์ส่าหรี  สุฮาร์โย อาจารย์ชาวอินโดนีเซีย มาเป็นอาจารย์พิเศษผู้สอนภาษามลายูอินโดนีเซีย ให้แก่นิสิตทั้งในและนอกคณะอักษรศาสตร์ที่เลือกเรียนรายวิชานี้

ในภาคปลายปีการศึกษา 2556 สาขาวิชาภาษามาเลย์ได้เปิดหลักสูตรวิชาโท เพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดขณะนี้  บัณฑิตที่มีความรู้ด้านภาษามลายูมาเลเซียและมลายูอินโดนีเซียเป็นที่ต้องการของสังคมทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เนื่องจากเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและโลก  ตลาดผู้เรียนและตลาดแรงงานที่ใช้ภาษามลายูทั้งสองแบบจึงเกิดการขยายตัวไปตามอุปสงค์ของสังคมดังกล่าวด้วย  

ขณะนี้สาขาวิชาภาษามาเลย์ กำลังอยู่ในระยะการพัฒนาและขยายงาน แต่ขาดแคลนบุคลากรที่จะมาพัฒนาและขยายงานเนื่องจากมีอาจารย์ประจำเพียง 1 ท่าน คณะอักษรศาสตร์จึงอนุมัติจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ เพิ่ม อีก 1 ตำแหน่ง สาขาวิชาฯ จึงได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลในตำแหน่งดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2556 พร้อมแผนพัฒนาบุคลากรโดยส่งเสริมให้ลาศึกษาต่อในระดับปริญญาโท – เอก ต่อไป เพื่อเสริมสร้างกำลังคนให้สอดรับกับภาระงานทั้งในด้านการสอน กิจกรรมเชิงวิชาการ การศึกษาวิจัย และการบริหารหลักสูตรต่างๆ ของคณะรวมถึงการให้บริการทางวิชาการที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะขยายเพิ่มในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ ของสาขาวิชาภาษามาเลย์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้  

ปัจจุบันมีนิสิตทั้งในคณะอักษรศาสตร์และนิสิตจากคณะต่างๆสนใจเรียนวิชาภาษามลายูทั้งภาษามลายูมาเลเซียและภาษามลายูอินโดนีเซียในอัตราที่สูงมาก  โดยในภาคปลายปีการศึกษา 2555 และ ภาคต้นปีของปีการศึกษา 2556 มีนิสิตต้องการเรียนภาษามลายู ทั้ง 2 แบบ รวมกันแล้วมากกว่า 250คนสาขาวิชาจึงจำเป็นต้องเปิดตอนเรียนสำหรับวิชาภาษามลายูมาเลเซียและภาษามลายูอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นแต่ก็เปิดเพิ่มได้เพียง 1-2 ตอนเรียน เนื่องจากไม่มีผู้สอน จึงยังมีนิสิตอีกจำนวนมากไม่สามารถลงเรียนวิชานี้ได้

สาขาวิชาภาษามาเลย์ ยังมีความร่วมมือในการจัดการสอนภาษามลายูหรือมาเลย์ ในรายวิชาต่างๆ ให้แก่นิสิตนอกสังกัดต่างคณะและต่างมหาวิทยาลัย เช่น ความร่วมมือกับภาควิชาต่างๆ ในคณะอักษรศาสตร์ ดูแลหลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดีและวรรณคดีเปรียบเทียบที่เน้นทางด้านวรรณคดีมาเลย์ และกิจกรรมเชิงวิชาการต่างๆ ที่สำคัญต่อการพัฒนานิสิตนักศึกษาให้มีความสมบูรณ์ในด้านวิชาการและเนื้อหาสาระอย่างมีคุณภาพ

            ในด้านการบริการทางวิชาการนั้น สาขาวิชาภาษามาเลย์ได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการของคณะอักษรศาสตร์เปิดอบรมภาษามลายูมาเลเซียและภาษามลายูอินโดนีเซียให้แก่บุคคลภายนอก ช่วยแปลงานของศูนย์การแปลหรือทำหน้าที่ล่ามในวาระต่างๆ หรือแปลเอกสารตามที่มหาวิทยาลัยและคณะฯ ขอความอนุเคราะห์มา

© 2014 Chulalongkorn University Department of Eastern Languages, Malay Section. All Right Reserved.