คำว่า พริก ในภาษาไทยปัจจุบัน หากปรากฏโดดๆ จะหมายถึงพืชในสกุล Capsicum ไม่ว่าจะเป็นพริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกหยวก ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง แต่หากนำมาประสมกับคำว่า ไทย จะหมายถึง Piper nigrum ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณตอนใต้ของอินเดีย
คำว่า พริก มีที่มามาจากคำว่า มฺริจฺ ในภาษาเขมร ซึ่งเป็นคำยืมจากคำภาษาสันสกฤตว่า มริจ อีกต่อหนึ่ง แต่คำศัพท์นี้ทั้งในภาษาเขมรและภาษาสันสกฤตล้วนแต่หมายถึงพริกไทย ไม่ได้หมายถึงพริกในสกุล Capsicum เราอาจสันนิษฐานได้ว่าคำว่า พริก เมื่อแรกยืมมาจากภาษาเขมรนั้นใช้เรียก Piper nigrum เท่านั้น แต่เมื่อมีการค้าขายกับชาวยุโรปแล้ว คนไทยจึงได้รู้จักพริกในสกุล Capsicum และใช้คำว่า พริก เรียกพืชในกลุ่มนี้เนื่องจากมีความเผ็ดเช่นเดียวกับพริกไทย ต่อมาคำว่า พริก จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายจากคำ Piper nigrum มาเป็น Capsicum แต่หากต้องการพูดถึง Piper nigrum ซึ่งเป็นพืชที่เข้ามาในวัฒนธรรมไทยก่อนก็จะใช้คำว่า พริกไทย แทน

หากสืบค้นคำว่า “พริก” ในสัพะพะจะนะพาสาไท ก็จะพบว่าเป็นไปตามข้อสันนิษฐานข้างต้น กล่าวคือ พระสังฆราชปาเลอกัวให้ความหมายของคำว่า พริก เป็นภาษาละตินไว้ว่า “Piper, capsicum” ซึ่งหมายรวมถึงพริกทั้งสองประเภท นอกจากนี้ยังอีกสองคำที่หมายถึงพริก คำแรกคือ พริกไท ซึ่งระบุความหมายไว้ว่า “Piper” และคำที่สองคือ พริกเทศ ซึ่งระบุความหมายไว้ว่า “Capsicum” แสดงให้เห็นการใช้คำว่า พริก เดี่ยวเพื่อหมายถึงพืชในสกุล Capsicum เกิดขึ้นหลังจากสมัยรัชกาลที่ 3