ฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์เป็นฐานข้อมูลที่ช่วยให้ผู้ที่สนใจภาษาไทยสมัยเก่าสามารถเข้าถึงพจนานุกรมสัพะพะจะนะพาสาไท (Dictionarium Linguæ Thai) ของพระสังฆราชปาเลอกัว (Jean-Baptiste Pallegoix) ได้ง่าย รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พจนานุกรมฉบับนี้เป็นพจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์ภาษาไทยที่มีการตีพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นพจนานุกรมที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีผู้อ้างถึงอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อค้นศัพท์เก่าในภาษาไทย ราชบัณฑิตยสถานก็ใช้ประโยจน์จาก สัพะพะจะนะพาสาไทในการเรียบเรียงพจนานุกรมเพราะมีระบุไว้ในรายการเอกสารอ้างอิง จึงเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งในการศึกษาภาษาไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
กระทรวงศึกษาธิการเคยตีพิมพ์สัพะพะจะนะพาสาไทซ้ำเมื่อปี พ.ศ. 2542 แต่การใช้งานพจนานุกรมค่อนข้างไม่สะดวกเนื่องจากเป็นพจนานุกรมที่มีขนาดรูปเล่มใหญ่มาก (กว้าง x ยาว = 11.5 นิ้ว x 14.5 หน้า หนา = 2.75 นิ้ว) มีจำนวนทั้งสิ้นมากถึง 897 หน้า สัพะพะจะนะพาสาไทฉบับพิมพ์ไม่มีคำนำหรือคำชี้แจงวิธีค้นศัพท์ใด ๆ ทั้งสิ้น ปกนอกมีข้อความเพียงว่า “สัพะ พะจะนะ พาสาไท DICTIONARIUM LINGUAE THAI SIVE SIAMENSIS” และมีข้อความบ่งบอกปีที่พิมพ์ “1854” (พ.ศ. 2397) อยู่ตรงกลางหน้า ศัพท์หลักในสัพะพะจะนะพาสาไทพิมพ์ด้วยอักษรตัวดำหนา มีความสูง 0.3 เซนติเมตร และกว้าง 0.2 เซนติเมตร ส่วนตัวโรมันที่บอกเสียงอ่านใช้อักษรตัวใหญ่ (capital letter) ทั้งหมด ศัพท์รองเป็นตัวอักษรขนาดเดียวกับศัพท์หลัก แต่ย่อหน้าเข้ามาเล็กน้อยประมาณ 1 กระเบียด ไม่มีการบอกหน้าที่ทางไวยากรณ์ของศัพท์แต่อย่างใด
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเผยแพร่ออนไลน์ในรูปแบบดิจิทัล แต่การใช้งานก็ยังมีความยุ่งยาก ที่สำคัญการให้เสียงอ่านและการเรียงลำดับอักษรเป็นระบบเฉพาะของพจนานุกรมเล่มนี้ สัพะพะจะนะพาสาไทให้บทนิยามศัพท์ที่มีเสียงอ่านเป็นอักษรโรมัน แล้วจึงให้ความหมายในภาษาละติน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ตามลำดับ นอกจากนี้ มีคำในสัพะพะจะนะพาสาไทจำนวนมากที่สะกดต่างจากปัจจุบัน จึงทำให้บุคคลทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพจนานุกรมเล่มนี้ได้เท่าที่ควร
ฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์เกิดจากความมุ่งมั่นของหน่วยปฏิบัติการวิจัยภาษาศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะสร้างทรัพยากรในการศึกษาภาษาไทยสมัยก่อนปัจจุบัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำวิจัยของนักวิจัยด้านภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์ไทย และเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับสามารถผู้สนใจทั่วไป ข้อมูลในฐานข้อมูลนี้ได้จากการตรวจสอบข้อมูลจากไฟล์ดิจิทัลที่เผยแพร่โดย Internet Archive ให้ถูกต้องตรงตามต้นฉบับ และเพิ่มรูปสะกดคำตามมาตรฐานปัจจุบันและเสียงอ่านที่ถ่ายถอดด้วยสัทอักษรสากลของคำแต่ละคำ
ฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์เริ่มต้นมาจากข้อมูลที่โครงการวิจัย “การเปลี่ยนแปลงด้านความสั้นยาวของสระในภาษาไทย: นัยสำคัญต่อการสะกดคำในปัจจุบัน” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และดำเนินการเสร็จสิ้นไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 จากนั้นจึงพัฒนาต่อในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำโครงการสร้างทรัพยากรดิจิทัลในการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทยก่อนปัจจุบันเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ งบประมาณบางส่วนในการพัฒนาฐานข้อมูลออนไลน์ยังมาจากทุนส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภชอีกด้วย
หน่วยปฏิบัติการวิจัยภาษาศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอขอบพระคุณผู้ให้การสนับสนุนดังต่อไปนี้
หากท่านใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์ ในผลงานวิชาการหรือผลงานใดๆ กรุณาอ้างอิง:
พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์. (2564). สัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์. สืบค้นเมื่อ XX มกราคม 25XX จาก https://www.arts.chula.ac.th/chulaseal/