พจนานุกรม สัพะพะจะนะพาสาไท (ต้นฉบับสะกดแบบเว้นวรรคเป็น สัพะ พะจะนะ พาสา ไท) เป็นพจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์ภาษาไทยที่มีการตีพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุด พจนานุกรมฉบับนี้เป็นพจนานุกรมสี่ภาษา คือภาษาไทย-ละติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ตีพิมพ์ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2397 โดยฌอง-บาติสต์ ปาเลอกัว (Jean-Baptiste Pallgoix) ซึ่งผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทยมักรู้จักในนาม “พระสังฆราชปาเลอกัว” เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นระหว่างที่ท่านพำนักอยู่ในสยามครั้งแรก ในช่วง พ.ศ. 2371-2397 ถึงแม้ว่าก่อนหน้าปี พ.ศ. 2397 จะเคยมีผลงานประเภทประมวลคำศัพท์ภาษาไทยมาก่อนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีผลงานใดที่ได้รับการตีพิมพ์ มีเพียงพจนานุกรมละติน-ไทย ผลงานของพระสังฆราชปาเลอกัวฉบับนี้ที่ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ. 2394 เท่านั้น
พจนานุกรมสัพะพะจะนะพาสาไทนับเป็นผลงานประเภทประมวลคำศัพท์ภาษาไทยในยุคแรกที่สมบูรณ์ที่สุด ผลงานของนักปราชญ์ไทยที่รวบรวมคำศัพท์ภาษาไทยไว้เพื่อการอ่านเขียนวรรณคดี เช่น จินดามณี ฉบับต่าง ๆ และคำฤษฎี ซึ่งเรียบเรียงโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็มีเพียงเฉพาะศัพท์วรรณคดีเท่านั้นและมิได้มีการเรียงลำดับอักษรแต่อย่างใด พจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์ภาษาไทยโดยชาวต่างชาติที่เก่าแก่ที่สุดน่าจะเป็นพจนานุกรมไทย-ละติน และละติน-ไทย ของพระสังฆราชลาโน (Louis Laneau) ที่เรียบเรียงขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็ไม่มีต้นฉบับตกทอดมาถึงปัจจุบัน พจนานุกรมไทย-อังกฤษซึ่งเรียบเรียงโดย John Taylor Jones เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2385 ก็มิได้มีการระบุเสียงอ่านของคำภาษาไทย มีเพียงคำภาษาไทยและคำนิยามศัพท์ภาษาอังกฤษเท่านั้น ส่วนพจนานุกรมไทยที่เรียบเรียงโดย เจ. คัสเวล (J. Caswell) และ เจ. เอช. แชนด์เลอร์ (J. H. Chandler) เมื่อ พ.ศ. 2389 ก็มีลักษณะเป็นเพียงประมวลคำศัพท์ภาษาไทยพร้อมคำอธิบายความหมายเป็นภาษาไทย แต่ไม่ได้มีการเรียงลำดับตามตัวอักษรหรือแบ่งหมวดหมู่แต่อย่างใด รวมทั้งยังไม่มีการระบุเสียงอ่านอีกด้วย
ฌอง-บาติสต์ ปาเลอกัว เป็นบาทหลวงในคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missions Etrangères de Paris) ซึ่งเดินทางเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธอลิกในสยามในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 1805 ที่ เมืองโกงแบร์โตล (Combertault) ประเทศฝรั่งเศส และเข้าเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 17 ปี จนกระทั่งได้เข้าสามเณราลัยคณะมิสซังต่างประเทศ และได้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1828
พระสังฆราชปาเลอกัวเดินทางมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1828 โดยเรือเดินทะเลที่ท่าเรือเมืองฮาฟร์ (Havre) ท่านเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ กลางปี ค.ศ. 1830 เมื่อเข้ามาท่านก็ได้เรียนรู้ภาษาไทยดีพอสมควร หลังจากนั้นจึงไปดูแลคริสตังที่วัดอยุธยาซึ่งกำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ นอกจากนั้นท่านยังได้รับภาระดูแลวัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี โดยได้สร้างวัดหลังใหม่และทำพิธีเสกเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1835 ต่อมาก็ได้สร้างวัดคอนเซปชัญซึ่งทำพิธีเสกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1837
พระสังฆราชปาเลอกัวได้รับแต่งตั้งเป็นอุปสังฆราชในปี ค.ศ. 1835 ต่อมาในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1836 ท่านได้รับตำแหน่งผู้ช่วยของพระสังฆราชกูรเวอซี (Courverzy) และต่อมารับอภิเษกพระสังฆราชปาเลอกัวป็นพระสังฆราชที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1838 เมื่อได้รับตำแหน่ง พระสังฆราชปาเลอกัวก็ได้เริ่มงานสร้างวัดกาลหว่าร์ที่ตลาดน้อยทันที ต่อมาก็ได้บูรณะซ่อมซ่อมโรงพิมพ์เก่าขึ้นใหม่ แล้วขยายโรงพิมพ์ซึ่งอำนวยประโยชน์มาก สังฆมณฑลมิสซังโคชินไชน่าก็ได้รับประโยชน์จากโรงพิมพ์นี้ด้วย เพราะว่าโรงพิมพ์นี้มีตัวอักษรลาตินซึ่งใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ตามแบบที่ใช้ในประเทศญวน
พระสังฆราชปาเลอกัวกลับไปประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1853 โดยนำคนไทย 2 คนไปด้วย และได้ทำพจนานุกรมฉบับภาษาไทย-ลาติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ฉบับร่างกับหนังสือเรื่องเล่าเรื่องกรุงสยาม พระสังฆราชได้เข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และพระจักรพรรดินี และได้รับอนุญาตให้พิมพ์หนังสือพจนานุกรมในโรงพิมพ์ของรัฐบาลฝรั่งเศสได้ ปี ค.ศ.1855
พระสังฆราชปาเลอกัวเดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง และได้นำของขวัญที่ระลึกจากสมเด็จพระสันตะปาปาและจากพระเจ้าจักรพรรดิแห่งประเทศฝรั่งเศสมาทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ไทยด้วย พระสังฆราชปาเลอกัวมรณภาพในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1862 ที่กรุงเทพฯ
สัพะพะจะนะพาสาไท เป็นพจนานุกรมสี่ภาษา คือ ไทย-ละติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ แบ่งเป็น 5 แถวโดยเรียงลำดับอักขรวิธีตามอักษรภาษาลาตินจาก A ถึง Z แถวแรกเป็นศัพท์ภาษาไทย แถวที่ 2 เป็นการออกเสียงคำ แถวที่ 3 เป็นศัพท์ภาษาลาติน แถวที่ 4 เป็นศัพท์ภาษาฝรั่งเศส และแถวสุดท้ายเป็นคำแปลภาษาอังกฤษ รวบรวมคำศัพท์ภาษาไทยไว้ถึง 29,276 หน่วยข้อมูล แบ่งเป็นหน่วยข้อมูลหลัก (main entry) จำนวน 12,584 หน่วย และหน่วยข้อมูลรอง (sub-entry) จำนวน 16,692 หน่วย แต่ละหน่วยข้อมูลประกอบไปด้วยคำตั้งภาษาไทย เสียงอ่าน และคำแปลเป็นภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ ซึ่งนำเสนอในรูปแบบสดมภ์
ถ้าศัพท์หลักใดเป็นวลีหรือสำนวนหรือเป็นคำประสม จะแยกให้เห็นโดยเว้นช่องว่าง เช่น น้ำ อาบ, อาบ น้ำ ฯลฯ แต่ถ้าศัพท์ใดเป็นคำหลายพยางค์ ทุกพยางค์จะอยู่ติดกัน เช่น โฆษณา, อะดิเรก, ปสาวะ ฯลฯ หนึ่งหน้าบรรจุศัพท์หลักและศัพท์รองประมาณ 30-35 คำ การเรียงศัพท์ใช้ลำดับอักษรโรมัน A-Z ในคอลัมน์วิธีออกเสียงเป็นเกณฑ์ ดังนั้นศัพท์หลักที่มีพยัญชนะต้นเป็น อ จึงมาก่อนและตามด้วย บ (B), จ (CH), ด, ฎ (D) จนถึง ช, ฉ, ฌ (X) ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าการเรียงลำดับศัพท์หลักในสัพะพะจะนะพาสาไทใช้เกณฑ์การออกเสียงเป็นสำคัญ การเรียงลำดับศัพท์ในลักษณะนี้ค่อนข้างแปลกสำหรับผู้ใช้พจนานุกรมที่เป็นคนไทย แต่สำหรับนักภาษาศาสตร์และผู้มีความรู้เกี่ยวกับระบบเสียงภาษาไทย และการถอดเสียงโดยใช้อักษรแทนเสียงแล้ว วิธีเรียงลำดับคำศัพท์ในสัพะพะจะนะพาสาไทของพระสังฆราชปาเลอกัวน่าสนใจอย่างยิ่ง อาจกล่าวได้ว่าพระสังฆราชปาเลอกัวเป็นนักภาษาศาสตร์คนแรกที่วิเคราะห์ระบบเสียงภาษาไทยและถอดเสียงภาษาไทยโดยใช้อักษรโรมันอย่างมีระบบ
คำตั้งภาษาไทยทุกคำมีการระบุเสียงอ่านด้วยอักษรโรมัน โดยใช้ระบบการถ่ายถอดเสียงคล้ายคลึงกับที่อเล็กซองดร์ เดอ โรด (Alexandre de Rhode) ใช้สะกดคำในภาษาเวียดนาม ธีระพันธ์ ล.ทองคำ (2534) ได้เรียบเรียงเนื้อหาเกี่ยวกับเสียงอ่านของสัพะพะจะนะพาสาไท รวมถึงวิธีการใช้งานไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งสามารถสรุปรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้
สัญลักษณ์แทนเสียงวรรณยุกต์: สัญลักษณ์แทนเสียงวรรณยุกต์มีทั้งที่อยู่เหนือสระและใต้สระ ดังนี้
เสียงวรรณยุกต์สามัญ (ไม่มีเครื่องหมายแสดง) เช่น ตา = TA เท = THE
เสียงวรรณยุกต์เอก ( – ) เช่น แตก = TË̄K ไต่ = TẴI อ่วม = ŨEM
เสียงวรรณยุกต์โท ( ̀) เช่น เที่ยว = THÌAU แต้ม = TË̀M ไหว้ = VẰI ธูป = THÙB
เสียงวรรณยุกต์ตรี ( . ) เช่น ช้า = XẠ แร้ว = RẸ̈O ท้าย = THẠI ไว้ = VẶI
เสียงวรรณยุกต์จัตวา ( ́ ) เช่น ถอย = THÓI ถอน = THÓN ไหว = VẮI โถ = THȎ́
สัญลักษณ์แทนเสียงพยัญชนะและสระ: สัญลักษณ์แทนเสียงพยัญชนะและสระ นอกจากอักษรโรมัน A-Z แล้ว ยังใช้เครื่องหมายปลีกย่อย (diacritic) อีกเป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องหมาย ̆ ที่อยู่เหนือรูปสระแสดงว่าเป็นสระเสียงสั้น เครื่องหมาย ̑ เหนืออักษร O เป็นเสียงสระ โ- และเครื่องหมาย ̈ เหนืออักษร E เป็นเสียง แ- เป็นต้น
สัญลักษณ์แทนเสียงสระ
สัญลักษณ์แทนเสียงของปาเลอกัว | สัทอักษณสากล | อักษรไทย (รูปสระ) | ตัวอย่างคำ |
I: | iʔ | -ิ | ติ |
Ĭ | i | -ิ | กิน |
I | iː | -ี | ปี, ปีน |
E: | eʔ | เ-ะ | เตะ |
Ĕ | e | เ-็ | เต็ม |
E | eː | เ- | เก, เลน |
Ë | ɛʔ | แ-ะ | แกะ |
Ë̆ | ɛ | แ-็ | แข็ง |
Ë | ɛː | แ- | แก, แกง |
Ư: | ɯʔ | -ึ | อึ |
Ŭ: | ɯ | -ึ | ตึง |
Ư | ɯː | -ื | มือ, กลืน |
Ơ: | ɤʔ | เ-อะ | เลอะ |
Ơ̆ | ɤ | เ-ิ | เปิ่น |
Ơ | ɤː | เ-อ, เ-ิ | เรอ, เดิน |
A: | aʔ | -ะ | กะ |
Ă | a | -ั | กัด |
A | aː | -า | กา, กาง |
U: | uʔ | -ุ | กุ |
Ŭ | u | -ุ | ลุง |
U | uː | -ู | สู, สูง |
Ȏ: | oʔ | โ-ะ | โปะ |
Ȏ̆: | o | โ-็ | ปน, ตก |
Ȏ | oː | โ- | โน, โนน |
O: | ɔʔ | เ-าะ | เกาะ |
Ŏ | ɔ | -็อ | ร่อน |
O | ɔː | -อ | รอ, ร้อน |
IA | ia | เ-ีย | เปีย |
IE | ia | เ-ีย | เตียง |
IAU | iaw | เ-ียว | เรียว |
UˈA | ɯa | เ-ือ | เรือ, เครื่อง |
UE, UÒ | ɯa | เ-ือ | เดือน, เลื่อม |
UAI | ɯaj | เ-ือย | เลื่อย |
UA | ua | -ัว | ตัว |
UE | ua | -ว | มวน |
UAI | uaj | -วย | มวย |
AI | aj | ไ- | ไก, ไน |
AI | aːj | -าย | กาย |
ĂO | aw | เ-า | เกา |
AO | aːw | -าว | กาว |
EO | ew | เ-ว | เลว |
ȎI | oj | โ-ย | โรย |
OI | ɔj | -อย | รอย |
IU | iw | -ิว | ริ้ว |
ËO | ɛw | แ-ว | แร้ว |
ƠI | əj | เ-ย | เลย |
UI | uj | -ุย | ลุย |
สัญลักษณ์แทนเสียงพยัญชนะ
สัญลักษณ์แทนเสียงของปาเลอกัว | สัทอักษรสากล | อักษรไทย (รูปพยัญชนะ) | ตัวอย่างคำ |
P | p | ป | ปา |
T | t | ต, ฏ | ตา |
CH | c | จ | จ่า |
K | k | ก | กา |
PH | ph | พ, ภ, ผ | พา |
TH | th | ท, ธ, ฒ, ถ, ฐ | ทา |
X | ch | ช, ฌ, ค | ชา |
KH | kh | ข, ฃ, ค, ฅ, ฆ | ขา |
B | b | บ | บ่า |
D | d | ด | ด่า |
M | m | ม | มา |
N | n | น, ณ | นา |
NG | n | ง | งา |
F | f | ฟ, ฝ | ฟ้า |
S | s | ซ, ศ, ษ, ส | ซา |
H | h | ฮ, ห | ฮา |
V | w | ว | วา |
L | l | ล, ฬ | ลา |
R | r | ร | รา |
J | s | ย | ยา |
ถึงแม้ว่าศัพท์หลักจะเป็นภาษาไทยและเขียนด้วยอักษรไทย แต่การเรียงศัพท์ไม่ได้เรียงตามลำดับอักษร ก-ฮ เหมือนในพจนานุกรมไทยฉบับอื่น ๆ เมื่อต้องการค้นศัพท์ ผู้ใช้ต้องดูการเรียงลำดับอักษรโรมัน A-Z ซึ่งเป็นส่วนที่บอกเสียงอ่านเป็นหลัก ดังนั้นศัพท์ที่มีพยัญชนะต้นเป็น อ- จึงแยกอยู่ตามหมวดอักษรต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น คำว่า “อา” อยู่ในหมวดอักษร A คำว่า “เอ็น, เอน, แอ่ง” อยู่ในหมวดอักษร E คำว่า “อ้อ, โอ, องค์, อ้อย, เอ่อ” อยู่ในหมวดอักษร O เป็นต้น
แนวทางการค้นศัพท์ในสัพะพะจะนะพาสาไท โดยสังเขปมีดังนี้
แต่ละหมวดอักษรก็มีการจัดลำดับศัพท์โดยใช้ลำดับของอักษรตัวที่สอง (A-Z) เป็นเกณฑ์ เช่น หมวดอักษร T จะเรียงลำดับศัพท์หลักที่มีพยางค์แรกออกเสียงเป็น ตะ- มาก่อน ทั้งนี้เพราะอักษร A ซึ่งเป็นอักษรตัวที่สองที่ใช้แทนเสียง -ะ -ั และ -า ส่วนคำพยางค์เดียวที่มีเสียงสระ -ุ -ู -ึ -ื จะอยู่ตอนท้าย ๆ ของหมวดเพราะมี U และ Ư ซึ่งใช้แทนเสียงประเภท -ุ -ู -ึ -ื เป็นอักษรตัวที่สอง
สัพะพะจะนะพาสาไทยังมีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าผู้ใช้พจนานุกรมต้องการดูตัวอย่างการปรากฏของศัพท์หลักในสำนวนและวลี จะต้องดูในช่องคำแปลภาษาละติน (ช่องที่ 3 จากซ้ายมือ) ตัวอย่างเช่น
ศัพท์หลัก | วิธีออกเสียง | คำแปลภาษาละติน | คำแปลภาษาฝรั่งเศส | คำแปลภาษาอังกฤษ |
กชาก | KAXAK | Vitrahere, hine et illinc trahere. – ฉวย กชาก เอาไป Vi eripere. – กชาก จาก มือ Eruere de minibus. | Emmener de force, trainer ça et là. – Enlever de force. – Arracher des mains. | To carry of by force, to drag about. – To take away forcibly. – To tear out of a person’s hands. |
บรรณานุกรม
ธีระพันธ์ ล.ทองคำ. (2534). การทำพจนานุกรมไทย–ไทย: อดีต-ปัจจุบัน (พ.ศ. 2389-2533). กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. (2558). พระสังฆราช ฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัว. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2565 จาก https://catholichaab.com/main/index.php/2015-09-22-02-42-26/biography/2015-09-22-08-08-12/445-baptiste-pallegoix