

ตำนานไท้ส่วยเอี๊ยะ ๖๐ องค์และพิธีแก้ปีชงในศาสนสถานจีนในสังคมไทยร่วมสมัย
ว่าที่ร้อยตรีหญิงสร้อยสุดา ไชยเหล็ก
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๘
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. ศึกษาเนื้อหาและโครงสร้างของตำนานไท้ส่วยเอี๊ยะ ๖๐ องค์ที่เผยแพร่ในสังคมไทยร่วมสมัย
๒. ศึกษาองค์ประกอบและขั้นตอนของพิธีแก้ปีชง
ในศาสนสถานจีน
๓. วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตำนานไท้ส่วยเอี๊ยะ ๖๐ องค์กับพิธีแก้ปีชง
สมมติฐานของการวิจัย
๑. เนื้อหาของตำนานไท้ส่วยเอี๊ยะ ๖๐ องค์ มีโครงสร้างหลักร่วมกัน คือเป็นประวัติชีวิตของบุคคลที่กลายเป็นวีรบุรุษผู้ศักดิ์สิทธิ์
๒. วัตถุสัญลักษณ์และพฤติกรรมสัญลักษณ์ในพิธีกรรมแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพิธีแก้ปีชงในศาสนสถานจีนในสังคมไทยร่วมสมัยกับตำนานไท้ส่วยเอี๊ยะ ๖๐ องค์
๓. พิธีแก้ปีชงในศาสนสถานจีนในสังคมไทยร่วมสมัยมีการผสมผสานกับวิธีการสะเดาะเคราะห์แบบอื่น ๆ ในสังคมไทย
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาเนื้อหาและโครงสร้างของตำนานไท้ส่วยเอี๊ยะ ๖๐ องค์ ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยจำนวน ๑๒๐ เรื่อง ศึกษาองค์ประกอบและขั้นตอนของพิธีแก้ปีชงในศาสนสถานจีนในภาคกลางของไทย จำนวน ๕ แห่ง ได้แก่ ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ จังหวัดชลบุรี วัดมังกรบุปผาราม จังหวัดจันทบุรี วัดเมตตาธรรมโพธิญาณ จังหวัดกาญจนบุรี สำนักสงฆ์สุธรรม กรุงเทพมหานคร และศาลเจ้าพ่อเสือ จังหวัดนครปฐม โดยเก็บข้อมูลภาคสนามในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๘ รวมทั้งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตำนานไท้ส่วยเอี๊ยะ ๖๐ องค์กับพิธีแก้ปีชง
ผลการศึกษาในด้านเนื้อหาและโครงสร้าง พบว่าตำนานไท้ส่วยเอี๊ยะ ๖๐ องค์ สามารถจำแนกได้เป็น ๔ แบบเรื่อง คือ แบบเรื่องบุรุษผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร แบบเรื่องบุรุษผู้ปกป้องคุ้มครองบ้านเมือง แบบเรื่องบุรุษผู้เปี่ยมคุณธรรม และแบบเรื่องบุรุษผู้เป็นเลิศในศาสตร์เฉพาะด้าน แบบเรื่องเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติสำคัญของบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถือในฐานะวีรบุรุษผู้ศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมจีน
ในด้านองค์ประกอบและขั้นตอนของพิธีแก้ปีชง พบว่าสัญลักษณ์ในพิธีกรรมมีความสัมพันธ์กับตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับการแก้ปีชง กล่าวคือ รูปเคารพไท้ส่วยเอี๊ยะ ๖๐ องค์เป็นวัตถุสัญลักษณ์ในพิธีกรรมที่ช่วยให้เข้าใจลักษณะเฉพาะของไท้ส่วยเอี๊ยะแต่ละองค์ เหตุการณ์สำคัญในตำนาน และปีนักษัตรต่าง ๆ ของจีน ทั้งยังพบว่าของเซ่นไหว้และเครื่องกระดาษในพิธีกรรมสะท้อนให้เห็นถึงการนับถือไท้ส่วยเอี๊ยะในฐานะที่เป็นเทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตาที่มีตำนานวีรบุรุษผู้ศักดิ์สิทธิ์รองรับ ส่วนพฤติกรรมสัญลักษณ์ในพิธีแก้ปีชงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องอำนาจในการปกป้องคุ้มครองดวงชะตาและขจัดปัดเป่าเคราะห์ภัยของไท้ส่วยเอี๊ยะ ๖๐ องค์ ซึ่งสอดคล้องกับวีรกรรมการขจัดทุกข์ภัยต่าง ๆ ที่ปรากฏในตำนาน
นอกจากนี้ ยังพบว่าพิธีแก้ปีชงในศาสนสถานจีนในสังคมไทยร่วมสมัยมีการนำความเชื่อเรื่องดวงดาวแห่งโชคเคราะห์ในวัฒนธรรมจีนกับความเชื่อเรื่องการสวดนพเคราะห์และการทำทานในวัฒนธรรมไทยเข้าไปผสมผสานด้วย เช่น การสวด “มนต์ปักเต้า” การต่อเทียนประจำวันเกิด การไถ่ชีวิตโคกระบือ การทำบุญโลงศพ เป็นต้น อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดเรื่อง “การสะเดาะเคราะห์ – เสริมดวง” และ “การทำบุญ – ทำทาน” ของคนไทย
งานวิจัยนี้จึงเป็นการศึกษาความเชื่อ ตำนาน และพิธีกรรมซึ่งเป็นคติชนจีนที่กำลังเป็น “กระแส” หรือปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งช่วยให้เข้าใจเนื้อหา โครงสร้าง สัญลักษณ์ และเป็นแนวทางในการศึกษาพิธีกรรมในปริบทสังคมไทยร่วมสมัยต่อไป
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/51230