ภูมิปัญญาล้านนาในการประยุกต์คัมภีร์และพิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” ที่เกี่ยวกับพิบัติภัยในปัจจุบัน

ภูมิปัญญาล้านนาในการประยุกต์คัมภีร์และพิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” ที่เกี่ยวกับพิบัติภัยในปัจจุบัน

อ.ดร.เชิดชาติ หิรัญโร

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๗

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. ศึกษาพิธี “สืบ ส่ง ถอน” ที่เกี่ยวกับพิบัติภัยในสังคมล้านนาปัจจุบัน
๒. วิเคราะห์องค์ความรู้และภูมิปัญญาของชาวล้านนาเกี่ยวกับพิบัติภัยที่ปรากฎในคัมภีร์ล้านนา
๓. วิเคราะห์วิธีการประยุกต์คัมภีร์และพิธีกรรมเพื่อเยียวยาปัญหาอันเกิดจากพิบัติภัยในสังคมล้านนาปัจจุบัน

สมมติฐานการวิจัย
๑. คัมภีร์และพิธี “สืบ ส่ง ถอน” สะท้อนโลกทัศน์ของชาวล้านนาที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และศีลธรรมอย่างเป็นองค์รวม นับเป็นภูมิปัญญาของชาวล้านนาในการใช้พิธีกรรมเพื่อแก้ไขพิบัติภัย
๒. ชาวล้านนาในปัจจุบันประยุกต์คัมภีร์และพิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” ด้วยการตีความคัมภีร์ใหม่และสร้างสัญลักษณ์ใหม่ในพิธีกรรมให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมล้านนาสมัยใหม่

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” โดยมุ่งศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพิบัติภัยในคัมภีร์ของล้านนา และวิเคราะห์ภูมิปัญญาในการประยุกต์พิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” เพื่อใช้แก้ไขและเยียวยาปัญหาอันเกิดจากพิบัติภัยในสังคมปัจจุบัน ข้อมูลที่ใช้ศึกษาวิเคราะห์ประกอบด้วย ๒ ส่วน ได้แก่ การศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์พิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” เฉพาะที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนาซึ่งได้มีการปริวรรตและจัดพิมพ์เผยแพร่แล้ว และศึกษาจากการประกอบพิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” แบบประยุกต์ที่ปฏิบัติกันในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน ตาก และอุตรดิตถ์ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๕๖

ผลการศึกษาพบว่า คัมภีร์ที่ใช้ในพิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” แบบประยุกต์ในปัจจุบันยังคงสืบทอดการใช้คัมภีร์ตามแบบแผนประเพณีโบราณของล้านนา ทั้งการสวดและลำดับขั้นตอนการสวด ยกเว้นธัมม์ที่ใช้เทศน์ประกอบหลังพิธีสืบชะตาที่มีการประยุกต์

ด้านการประกอบพิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” แบบประยุกต์ในปัจจุบัน พบว่ามีปรับเปลี่ยนในหลายส่วน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของพิธีกรรม ลำดับขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม เครื่องประกอบพิธีกรรม และการผสมผสานพิธีกรรมอื่นเข้ามาในพิธีกรรมทั้งสาม ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะของการประยุกต์ในพิธีกรรมออกเป็น ๕ รูปแบบ ได้แก่ การเพิ่มเติม การลดทอน การปรับเปลี่ยน การผสมผสาน และการสร้างใหม่

การประยุกต์พิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” เป็นผลสืบเนื่องจากบริบทแวดล้อมของปัญหาพิบัติภัย วัตถุประสงค์ของการประกอบพิธีกรรม ผู้จัดพิธีกรรม และผู้ร่วมพิธีกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทำให้เกิดการตีความและสร้างสัญลักษณ์ใหม่ในพิธีกรรม ทั้งที่เป็นวัตถุสัญลักษณ์ พฤติกรรมสัญลักษณ์ พื้นที่สัญลักษณ์ และเวลาสัญลักษณ์

การประยุกต์พิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” ในปัจจุบันแสดงให้เห็นลักษณะสำคัญของวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาพิบัติภัยที่เป็นภูมิปัญญาเฉพาะตัวของชาวล้านนา ประกอบด้วย วิธีคิดที่ยึดโยงระบบต่าง ๆ ในสังคมเอาไว้ด้วยกัน วิธีคิดที่เน้นสำนึกอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่หลากหลาย รวมทั้งวิธีคิดในการปรับประยุกต์พิธีกรรม “สืบ ส่ง ถอน” ให้เป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านและพิธีกรรมตามระบบปฏิทินของชุมชน โดยมีพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมประสาน การที่ชุมชนและผู้จัดพิธีกรรมมีอิสระในการเลือกใช้รูปแบบวิธีการประยุกต์ที่เหมาะสมกับปัญหาแต่ละแบบ ทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งกับระบบแบบแผนวัฒนธรรมดั้งเดิมและสอดรับกับกระบวนทัศน์ของชาวล้านนา แบบแผนวิธีคิดดังกล่าวยังสะท้อนโลกทัศน์ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และระบบศีลธรรมอย่างเป็นองค์รวม

Download PDF

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย
สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46376