พระเอกและผู้ร้ายในภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทย: การวิเคราะห์ลักษณะการผสมผสานทางวัฒนธรรม

พระเอกและผู้ร้ายในภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทย:
การวิเคราะห์ลักษณะการผสมผสานทางวัฒนธรรม

อ.ดร.กฤตยา ณ หนองคาย

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๖

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อวิเคราะห์ลักษณะของตัวละครพระเอกและผู้ร้ายในภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทย
๒. เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในลักษณะตัวละครพระเอกและผู้ร้ายในภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทย

สมมติฐานของการวิจัย
ตัวละครพระเอกและผู้ร้ายในภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทยมีลักษณะการผสมผสานวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมต่างชาติ โดยแสดงผ่านรูปลักษณ์ ลักษณะนิสัย พฤติกรรม และบทบาทของตัวละคร การผสมผสานดังกล่าว ทำให้เห็นลักษณะเฉพาะของตัวละครทั้งสองกลุ่มนี้ในภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทยที่มีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมวัฒนธรรมไทยในยุคสมัยที่มีการสร้างภาพยนตร์นั้น ๆ

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะตัวละครพระเอกและผู้ร้ายในภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทยและลักษณะการผสมผสานวัฒนธรรมที่ปรากฏผ่านลักษณะตัวละครพระเอกและผู้ร้ายในภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๓ ผู้วิจัยรวบรวมภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยจำนวน ๔๕ เรื่อง ๘๘ สำนวน

จากการศึกษาลักษณะตัวละครพระเอกและผู้ร้ายในภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทย ผู้วิจัยได้ประยุกต์แนวคิดเรื่องแบบเรื่องมาวิเคราะห์เนื้อเรื่องและลักษณะตัวละคร ผลการศึกษาทำให้พบว่าภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทยจัดแบบเรื่องได้ ๔ แบบเรื่องคือ ๑) แบบเรื่องวีรบุรุษนอกกฎหมาย ๒) แบบเรื่องสุภาพบุรุษนักสู้ชีวิต ๓) แบบเรื่องวีรบุรุษปลอมตัวและวีรบุรุษปิดบังใบหน้า ๔) แบบเรื่องวีรบุรุษจอมเวทย์ การศึกษาแบบเรื่องทำให้พบลักษณะตัวละครพระเอก ผู้ร้าย ซึ่งผู้วิจัยจำแนกลักษณะพระเอกได้ ๕ กลุ่ม ๖ รูปแบบ ได้แก่

๑) พระเอกแบบนักสู้ภูธร มี ๒ รูปแบบคือ พระเอกสุภาพบุรุษจอมโจรและพระเอกนักสู้ยอดมวยไทย ๒) พระเอกแบบข้าราชการผดุงความยุติธรรม ๓) พระเอกแบบจอมเวทย์ ๔) พระเอกแบบยอดสายลับหรือแบบวีรบุรุษคาดหน้ากาก และ ๕) พระเอกแบบเบ็ดเตล็ด ได้แก่ พระเอกที่เป็นชาวต่างชาติ ส่วนลักษณะผู้ร้ายมี ๔ กลุ่มได้แก่ ๑) ผู้ร้ายแบบจอมโจร/เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ๒) ผู้ร้ายแบบข้าราชการหรือนักการเมืองฉ้อฉล ๓) ผู้ร้ายแบบกลุ่มผู้ก่อการร้าย องค์กรลับ อาชญากรหรือทหารต่างชาติและ ๔) ผู้ร้ายแบบจอมขมังเวทย์และสัตว์ประหลาด สัตว์ร้ายแนวเหนือจริง

จากการวิเคราะห์ลักษณะการผสมผสานวัฒนธรรม ผู้วิจัยพบว่า การผสมผสานวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมต่างชาติมี ๓ ลักษณะคือ ๑) ผ่านรูปลักษณ์และการแต่งกาย ๒) ผ่านพฤติกรรมและบทบาทของตัวละครและ ๓) ผ่านความสามารถและคุณสมบัติพิเศษ ทั้งนี้มีกลวิธีในการผสมผสานวัฒนธรรม ๔ กลวิธีคือ ๑) รับลักษณะตัวละครจากต่างประเทศมาส่วนใหญ่ ๒) รับลักษณะตัวละครจากต่างประเทศบางส่วนและเพิ่มลักษณะตัวละครแบบไทย ๓) รับแนวคิดจากต่างประเทศแต่สร้างตัวละครแบบไทย และ ๔) ปรับตัวละครแบบไทยให้มีลักษณะสากลเพื่อนำเสนอสู่เวทีต่างประเทศ/นานาชาติ อนึ่งปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมอยู่เบื้องหลังกระบวนการผสมผสานวัฒนธรรมมี ๓ ปัจจัยสำคัญคือ ๑) อิทธิพลของอเมริกานุวัตรและสภาพสังคมวัฒนธรรมไทยในยุคสมัยที่มีการสร้างภาพยนตร์ ๒) กระบวนการโลกาภิวัตน์ และ ๓) ภาพยนตร์ในฐานะวัฒนธรรมประชานิยม กระบวนการผสมผสานวัฒนธรรมทำให้เห็นลักษณะเฉพาะของตัวละครพระเอก ผู้ร้ายในภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทยและความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมวัฒนธรรมไทยในยุคสมัยที่มีการสร้างภาพยนตร์นั้น ๆ นอกจากนี้ทำให้เข้าใจภูมิปัญญาในการปรับประยุกต์วัฒนธรรมต่างชาติมาใช้ในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยที่สัมพันธ์กับการสร้างภาพยนตร์แนวต่อสู้ผจญภัยของไทย

Download PDF

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42751