

บทบาทของบทร้องประกอบพิธีกรรมเหยาของชาวผู้ไท
ผศ.ปกกสิณ ชาทิพฮด
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๔๘
วัตถุประสงค์การวิจัย
๑. ศึกษาบทบาทของบทร้องประกอบพิธีกรรมเหยาของชาวผู้ไท
๒. วิเคราะห์เนื้อหาและกลวิธีการใช้ภาษาในบทร้องประกอบพิธีกรรมเหยา
๓. ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหา กลวิธี และบทบาทของบทร้องดังกล่าว
สมมติฐานการวิจัย
บทร้องประกอบพิธีกรรมเหยาเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่สัมฤทธิผลในการรักษาโรค
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมและศึกษาบทบาทของบทร้องประกอบพิธีกรรมเหยาของชาวผู้ไทในเขตอำเภอพรรณานิคม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
ผู้วิจัยพบว่า “พิธีเหยา” เป็นพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาตามประเพณีของชาวผู้ไท ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์และมุกดาหาร แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ พิธีกรรมเหยารักษาผู้ป่วยและพิธีกรรมเหยาเลี้ยงผี ซึ่งทุกพิธีกรรมจะมีบทร้องเป็นองค์ประกอบสำคัญ
บทร้องประกอบพิธีกรรมเหยามีโครงสร้างสำคัญ ๕ ขั้นตอน คือ การไหว้ผีเชิญผี การลำส่องและไต่ถาม การอ้อนวอนร้องขอ การเรียกขวัญสู่ขวัญและการส่งผีอำลา นอกจากนี้ยังปรากฏขั้นตอนพิเศษ คือ การขู่ เมื่อการอ้อนวอนร้องขอไม่ประสบความสำเร็จ โครงสร้างทั้ง ๕ ขั้นตอนมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับการใช้ภาษาและการใช้ดนตรีประกอบบทร้อง
ผู้วิจัยพบว่าบทร้องมีบทบาทนำไปสู่สัมฤทธิผลในการรักษาโรค โดยเฉพาะบทบาทในการเป็นเครื่องมือค้นหาสมุฏฐานของโรค วินิจฉัยอาการเจ็บป่วย บอกวิธีการแก้ไขและรักษาและที่สำคัญที่สุดคือบทบาทในการให้กำลังใจผู้ป่วย นอกจากนี้พิธีกรรมเหยายังมีลักษณะเด่น ๓ ประการ ซึ่งแสดงอัตลักษณ์ของชาวผู้ไท คือ ความเชื่อเรื่องผีแถน ภาษาผู้ไท และดนตรีทำนองผู้ไท
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/68263