

การดำรงอยู่และบทบาทของความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน
ผศ.พิมพ์นภัส จินดาวงค์
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๔
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. วิเคราะห์ลักษณะการดำรงอยู่ของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์เมืองในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน
๒. วิเคราะห์บทบาทของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์เมืองปัจจุบัน
สมมติฐานของการวิจัย
การดำรงอยู่ของความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการไหว้ผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันยังคงมีลักษณะเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับพุทธศาสนาดังเช่นในอดีต แต่มีการปรับเปลี่ยนตามบริบทปัจจุบัน โดยภาครัฐเข้ามามีส่วนในการจัดพิธีกรรมมากขึ้น ทำให้พิธีกรรมดังกล่าวมีบทบาทอย่างกว้างขวาง ทั้งในการสร้างขวัญและกำลังใจ ความอุดมสมบูรณ์ ความสงบสุขของบ้านเมืองและการสืบสานประเพณีของจังหวัด
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มุ่งศึกษาลักษณะการดำรงอยู่และบทบาทของความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน โดยมีขอบเขตการวิจัยคือ พิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์เมืองในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๓ พิธี ได้แก่ พิธีบูชาเสาอินทขีล พิธีทำบุญเมืองและสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ และพิธีบูชาปู่แสะย่าแสะ ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพภาคสนามทางคติชนวิทยาโดยการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องและสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในพิธีกรรมดังกล่าวในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๔
ผลการศึกษาพบว่า พิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่ทั้ง ๓ พิธีมีลักษณะการดำรงอยู่โดยมีการผสมผสานความเชื่อพุทธ พราหมณ์ ผี โดยพิธีทำบุญเมืองและสืบชะตาเมืองเชียงใหม่และพิธีบูชาเสาอินทขีลการนำความเชื่อทางพุทธศาสนามาผสมผสานอย่างเข้มข้น ในขณะที่บูชาปู่แสะย่าแสะนั้นมีความเชื่อดั้งเดิมเป็นจุดเด่นของพิธี นอกจากนี้ยังพบลักษณะการดำรงอยู่ของความเชื่อและพิธีกรรมที่มีการปรับให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน อันได้แก่ การปรับองค์ประกอบบางส่วนในพิธีเพื่อตอบสนองต่อนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด การนำเสนออัตลักษณ์เมืองเชียงใหม่ และการนำเสนอความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในจังหวัดเชียงใหม่ผ่านพิธีกรรม
ส่วนผลการวิเคราะห์บทบาทของพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันพบว่ายังคงมีบทบาทในการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ ตอบสนองความต้องการทางด้านสังคม และตอบสนองนโยบายของรัฐในการสืบสานประเพณีของจังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30040