โขนสดคณะประยุทธ ดาวใต้: การสืบทอดและการสร้างสรรค์เรื่องรามเกียรติ์ในสังคมไทยร่วมสมัย

โขนสดคณะประยุทธ ดาวใต้: การสืบทอดและการสร้างสรรค์เรื่องรามเกียรติ์ในสังคมไทยร่วมสมัย

ชวพันธุ์ เพชรไกร

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๙

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. ศึกษาลักษณะของบทโขนสดเรื่องรามเกียรติ์ของคณะประยุทธ ดาวใต้
๒. วิเคราะห์การสืบทอดและการสร้างสรรค์การแสดงโขนสดของคณะประยุทธ ดาวใต้

สมมติฐานของการวิจัย
๑. บทโขนสดของคณะประยุทธ ดาวใต้ แสดงให้เห็นการสืบทอดเรื่องรามเกียรติ์แบบมุขปาฐะ ศิลปินทั้งที่เป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง และตัวตลก สามารถสร้างสรรค์สำนวนกลอนที่สืบทอดมาจากกลอนครู
๒. โขนสดคณะประยุทธ ดาวใต้ ยังดำรงอยู่ได้ในสังคมไทยร่วมสมัย โดยการสร้างสรรค์บทและองค์ประกอบการแสดง เช่น ตัวละคร มุกตลก การร้อง ฉาก ให้เข้ากับยุคสมัย

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของบทโขนสดเรื่องรามเกียรติ์ของคณะประยุทธ ดาวใต้ และเพื่อวิเคราะห์การสืบทอดและการสร้างสรรค์เรื่องรามเกียรติ์ในการแสดงโขนสดของคณะดังกล่าว โดยใช้แนวคิด Oral Formulaic Composition ของอัลเบิร์ต บี. ลอร์ด (Albert B. Lord) และแนวคิดการแพร่กระจายของนิทานเป็นแนวทางหลักในการศึกษา ผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามโดยใช้วิธีการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก โดยติดตามคณะโขนสดดังกล่าวไปแสดงยังจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางและภาคตะวันออกในช่วงปี ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙

ผลการศึกษาพบว่า บทโขนสดเรื่องรามเกียรติ์ของคณะประยุทธ ดาวใต้ มีลักษณะเป็นร้อยกรองมุขปาฐะใช้กลอนหัวเดียวเป็นหลักในการร้อง มีการดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็วโดยใช้การพากย์และการเจรจา มีเนื้อหาหลากหลายสามารถปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นได้ภายใต้กรอบโครงเรื่องของเรื่องรามเกียรติ์ และเน้นการนำเสนอมุกตลกโปกฮาเพื่อให้เหมาะแก่รสนิยมของชาวบ้าน

ศิลปินคณะประยุทธ ดาวใต้ได้รับการสืบทอดองค์ความรู้เรื่องรามเกียรติ์และศิลปะการแสดงโขนสดจากครูบุญเหลือ แซ่คู ซึ่งเป็นครูอาวุโสและเจ้าของคณะ ผู้มีบทบาทสำคัญในการฝึกสอนรำ สอนเรื่อง ไปพร้อมกับการฝึกให้จำกลอนครู ฝึกให้รู้กลอนตลาด และฝึกให้สามารถแต่งกลอนได้ เมื่อศิลปินมีความชำนาญก็จะด้นกลอนสดหน้าเวทีได้โดยใช้ “สำนวนสูตรสำเร็จ” จาก “กลอนครู” เป็นฐานในการด้นกลอน กระบวนการสั่งสมประสบการณ์ดังกล่าวทำให้ศิลปินมี “คลังข้อมูล” ในการด้นจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน

ครูบุญเหลือ แซ่คู ได้สร้างสรรค์เรื่องรามเกียรติ์เพิ่มเติมจากสำนวนที่รับรู้ในสังคมไทย จำแนกได้ ๒ ลักษณะ คือ ๑) ดัดแปลงรายละเอียดบางส่วนจากโครงเรื่องรามเกียรติ์เดิม และ ๒) ปรุงบทเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นใหม่ เรียกว่า “รามเกิน” ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้สร้างสรรค์องค์ประกอบต่าง ๆ ในการแสดงให้สมสมัย เช่น สร้างตัวละครใหม่ แทรกมุกตลก ประยุกต์เพลงหน้าพาทย์ร่วมสมัย สร้างฉากและพัฒนาระบบแสงเสียงให้มีลักษณะแฟนตาซี สร้างสรรค์เครื่องแต่งกายให้งดงาม สร้างหัวโขนและอุปกรณ์ประกอบการแสดงให้เสริมรับกับท้องเรื่อง รวมทั้งนำเสนอความสามารถของศิลปินเด็กและกายกรรมคนเล่นไฟ

การสร้างสรรค์ดังกล่าวทำให้โขนสดคณะประยุทธ ดาวใต้ ยังคงอยู่ได้ในสังคมไทยร่วมสมัยเพราะมีปัจจัยที่เอื้อต่อการดำรงอยู่หลายปัจจัย ได้แก่ ๑) ปัจจัยด้านทุนบุคคลของคณะที่มีความรู้ความสามารถสูง ๒) ปัจจัยการสืบทอดของคนในครอบครัวที่ยึดอาชีพโขนสดเป็นอาชีพหลัก ๓) ปัจจัยด้านการบริหารจัดการอย่างครบวงจรเพื่อสร้างมั่นคงให้แก่คณะ ๔) ปัจจัยเรื่องการปรับเรื่องให้ครอบคลุมเรื่องรามเกียรติ์และเหมาะสมกับโอกาสในการแสดง ๕) ปัจจัยเรื่องการตลาดและการประชาสัมพันธ์คณะที่ดี ๖) ปัจจัยเรื่องการสร้างชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในสังคม

งานวิจัยนี้จึงช่วยชี้ให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของบทแสดงโขนสดในฐานะที่เป็น “วรรณกรรมมุขปาฐะ” อันเป็นภูมิปัญญาสำคัญของครูศิลปินอาวุโสที่มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญหายไปพร้อมกับตัวศิลปิน ทั้งยังสะท้อนวิธีคิดในการปรับประยุกต์การแสดงโขนสดให้ “ยังคงเสน่ห์” และ “ยังคงดำรงอยู่” ได้ในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55122