

ลักษณะเด่นของนวนิยายไทยที่มีตัวละครเป็นครุฑและนาค
อวยพร แสงคำ
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๗
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาองค์ประกอบของนวนิยายไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๙ – ๒๕๕๕ ที่มีตัวละครเป็นครุฑและนาค
๒. เพื่อวิเคราะห์ลักษณะเด่นของนวนิยายไทยที่มีตัวละครเป็นครุฑและนาค
สมมติฐานของการวิจัย
ลักษณะเด่นของนวนิยายไทยที่มีตัวละครเป็นครุฑและนาค คือ การนำความขัดแย้งระหว่างครุฑกับนาคมาสร้างเป็นเรื่องเพื่อนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความพยาบาทและการให้อภัย และการนำเรื่องราวของครุฑกับนาคในเรื่องเล่าต่าง ๆ มาสร้างเป็นลักษณะตัวละครและฉาก
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งวิเคราะห์องค์ประกอบและลักษณะเด่นของนวนิยายไทยที่มีตัวละครเป็นครุฑและนาคที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙ – ๒๕๕๕ จำนวน ๑๑ เรื่อง ได้แก่ มณีสวาท กาษานาคา ปักษานาคา มนตรานาคาครุฑ ดวงหทัยครุฑรามันตุ์ อริตวรรธน์ครุฑานาคา เคสินาคาดวงใจพญานาค นาคสวาท ร้อยรักปักษา เมฃลานาคา และสัญญารักให้ก้องฟ้า โดยชี้ให้เห็นว่าจินตนาการของผู้แต่ง การสร้างงานแนววัฒนธรรมประชานิยม และอิทธิพลจากวรรณกรรมและภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างชาติ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการสร้างสรรค์นวนิยายไทยกลุ่มนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ถึงปัจจุบัน
ผลการศึกษาพบว่า ผู้แต่งนำเรื่องเล่าต่าง ๆ ทั้งที่เป็นวรรณกรรมสันสกฤตและบาลี วรรณคดีไทย นิทานพื้นบ้าน และข่าวเหตุการณ์ปัจจุบัน มาสร้างเป็นองค์ประกอบสำคัญของนวนิยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำความขัดแย้งใน “ตำนานครุฑจับนาค” มาผสมผสานกับจินตนาการของตนแล้วสร้างเป็นองค์ประกอบทางวรรณกรรมที่น่าสนใจ กล่าวคือ ในด้านโครงเรื่องพบโครงเรื่องถึง ๔ แบบ ได้แก่ โครงเรื่องแบบการข้ามภพชาติมาแก้แค้นศัตรูรัก โครงเรื่องแบบการข้ามภพชาติมาติดตามคู่รัก โครงเรื่องแบบการประนีประนอมความขัดแย้ง และโครงเรื่องแบบการแย่งชิงของวิเศษ สาเหตุของความขัดแย้งในโครงเรื่อง มักเกี่ยวข้องกับเรื่องความรัก ความโลภ ความริษยา และเน้นให้มีการข้ามภพชาติ ด้านตัวละคร พบว่าผู้แต่งสร้างตัวละครครุฑ นาค ตัวละครที่มีกำเนิดทั้งจากเผ่าพันธุ์ครุฑและนาค รวมทั้งตัวละครผู้ช่วยเหลือ โดยอิงลักษณะของครุฑและนาคจากเรื่องเล่าต่าง ๆ แล้วเพิ่มเติมลักษณะอื่น ๆ ตามจินตนาการของตนทำให้ตัวละครมีลักษณะที่หลากหลาย ในด้านฉาก มีการสร้างฉากใน ๓ แบบ คือ ฉากที่สร้างจากสถานที่จริง ฉากที่สร้างจากเรื่องเล่า และฉากที่สร้างจากจินตนาการ องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้นำไปสู่การเข้าใจแนวคิดของนวนิยายกลุ่มนี้ที่มีการนำเสนอทั้งแนวคิดเรื่องกรรมและผลกรรม แนวคิดเรื่องการยึดติดและการปล่อยวางกับการละทิฐิ และแนวคิดเรื่องความรักและการให้อภัย
นวนิยายกลุ่มนี้จึงมีลักษณะเด่นคือการที่ผู้แต่งได้นำความขัดแย้งระหว่างครุฑกับนาคจากเรื่องเล่าต่าง ๆ โดยเฉพาะจากตำนานครุฑจับนาคมาสร้างเป็นโครงเรื่อง ตัวละคร และฉาก ในลักษณะของนวนิยายแนวโรแมนติกแฟนตาซี แต่ก็ได้ผสมผสานหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้าไปตามแนวนิยมของนักเขียนไทยเพื่อมุ่งสื่อแนวคิดสำคัญเรื่องความพยาบาทและการให้อภัย จินตนาการของผู้แต่งที่ทำให้เรื่องราวน่าสนใจนั้น สะท้อนให้เห็นจากการสร้างสรรค์อนุภาคต่าง ๆ ทั้งอนุภาคตัวละคร อนุภาคของวิเศษ และอนุภาคเหตุการณ์อันเป็นการสอดประสานกันระหว่างคติชนกับวรรณกรรมในนวนิยายกลุ่มนี้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษานวนิยายไทยที่นำตัวละครมาจากนิทานต่าง ๆ ได้ต่อไป
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46458