เรื่องเล่าแนว “รักโศก” และกลวิธีการให้คำปรึกษาในพื้นที่สื่อสาธารณะ: กรณีศึกษารายการวิทยุ “คลับฟรายเดย์”

เรื่องเล่าแนว “รักโศก” และกลวิธีการให้คำปรึกษาในพื้นที่สื่อสาธารณะ:
กรณีศึกษารายการวิทยุ “คลับฟรายเดย์”

เกศสุดา นาสีเคน

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๗

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาแบบเรื่องและองค์ประกอบของเรื่องเล่าในรายการวิทยุ “คลับฟรายเดย์”
๒. เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบการสื่อสารของรายการวิทยุ “คลับฟรายเดย์” ตามแนวชาติพันธุ์วรรณนาแห่งการสื่อสาร
๓. เพื่อวิเคราะห์กลวิธีการให้คำปรึกษาในรายการวิทยุ “คลับฟรายเดย์”

สมมติฐานของการวิจัย
“คลับฟรายเดย์” เป็นรายการวิทยุที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังทางบ้านโทรศัพท์เข้ามาเล่าเรื่องปัญหาชีวิตรักที่มีหลากหลายแบบเรื่องในแนว “รักโศก” รูปแบบของรายการที่รับฟังปัญหาของผู้เล่าเรื่องและกลวิธีการให้คำปรึกษาอย่างมีส่วนร่วมระหว่างผู้ดำเนินรายการและผู้ฟังทางบ้านทำให้รายการวิทยุ “คลับฟรายเดย์” มีบทบาทในฐานะเป็นพื้นที่การระบายออกความคับข้องใจให้แก่ผู้คนที่รับสารผ่านสื่อสาธารณะในปัจจุบัน

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเนื้อหาและประเภทของเรื่องเล่าแนว “รักโศก” จากชีวิตรักของผู้ฟังที่เข้ามาเล่าเรื่องในรายการวิทยุ “คลับฟรายเดย์” ตลอดจนศึกษากลวิธีการให้คำปรึกษาในรายการ ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาสุ่มจากคลิปวิดีโอรายการย้อนหลังในเดือนมกราคม – ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ จำนวน ๑๒ ตอน เรื่องเล่า ๖๖ เรื่อง การวิเคราะห์ใช้ระเบียบวิธีวิจัยทั้งทางคติชนวิทยา ระเบียบวิธีทางวรรณกรรมคือศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง และระเบียบทางภาษาคือชาติพันธุ์วรรณนาแห่งการสื่อสาร

ผู้วิจัยได้ประยุกต์ใช้ระเบียบวิธีทางคติชนวิทยา คือ แบบเรื่องนิทาน ของ สติธ ธอมป์สัน ในการจัดประเภทเรื่องเล่าจากรายการ สามารถจำแนกเรื่องเล่าปัญหาชีวิตรักเพื่อให้เห็นภาพรวมได้ ๘ แบบเรื่องใหญ่ ๆ ได้แก่ แบบเรื่องคนรักนอกใจ แบบเรื่องรักคนมีเจ้าของ แบบเรื่องนอกใจคนรัก แบบเรื่องไม่มั่นใจในความรัก แบบเรื่องนิสัยเข้ากันไม่ได้ แบบเรื่องแอบรักข้างเดียว แบบเรื่องรักที่ไม่ได้รับการยอมรับ และแบบเรื่องรักที่ต้องพลัดพรากจากกันเพราะความตาย

จากการศึกษาองค์ประกอบของเรื่องเล่าตามแนวศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องทำให้พบว่าตัวละครและฉากบรรยากาศสะท้อนภาพคนชั้นกลางในสังคมเมือง ลักษณะเด่นของเรื่องเล่าแนว “รักโศก” คือ มีที่มาจากชีวิตจริง ลีลาในการเล่าเรื่องมีความเป็นธรรมชาติ และเรื่องเล่าส่วนใหญ่จบแบบปลายเปิดโดยทิ้งปมปัญหาไว้เพื่อให้ผู้ดำเนินรายการช่วยคลี่คลาย การศึกษาเรื่องเล่าปัญหาชีวิตรักทำให้เห็นภาพสะท้อนชีวิตสังคมเมือง ได้แก่ ค่านิยมการอยู่ก่อนแต่งงาน ปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ปัญหาชู้สาวในสถานที่ทำงาน ปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยว ปัญหาสังคมไม่ยอมรับความรักเพศเดียวกัน และเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์รูปแบบใหม่

การวิเคราะห์องค์ประกอบการสื่อสารตามแนวชาติพันธุ์วรรณนาแห่งการสื่อสารของเดลล์ ไฮมส์ พบว่าผู้เล่าเรื่อง ๖๖ คน มีผู้เล่าเพศหญิง ๕๓ คน และเพศชาย ๑๓ คน แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของรายการมีเพศหญิงนิยมเข้ามาใช้งานมากกว่าเพศชาย เป็นกลุ่มคนวัยทำงานและนักศึกษาซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มคนเมืองที่มีการศึกษา การสื่อสารในพื้นที่สื่อสาธารณะที่ได้ทำให้เกิดการสนทนาปัญหาความรักแบบไม่เผชิญหน้าโดยตรงเอื้อให้ผู้เล่ากล้าเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวที่เป็นความลับ ทั้งนี้ได้เกิดจากบรรทัดฐานในการปฏิสัมพันธ์ที่ผู้ฟังมีการยอมรับข้อตกลงร่วมกันว่าผู้ดำเนินรายการมีสถานภาพสูงกว่าตนเองทั้งด้านวัยวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา การยอมรับความต่างสถานภาพเอื้อให้ผู้ดำเนินรายการใช้กลวิธีการให้คำปรึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ กลวิธีที่ใช้ได้แก่ การขอให้ผู้ขอรับคำปรึกษาได้เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ และกลวิธีการใช้ภาษาและถ้อยคำที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เล่าคลายทุกข์

การให้คำปรึกษาของผู้ดำเนินรายการมีบทบาทสำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้งปัญหาชีวิตรักโดยมักจะเน้นย้ำเรื่อง การตระหนักสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง การเตือนให้นึกถึงจิตใจของผู้อื่น การปรับทัศนะให้เกิดความเข้าใจกัน การปรับวิธีคิดเรื่องการรักเพศเดียวกัน และการแนะให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ การสื่อสารแบบไม่เผชิญหน้าเอื้อให้ผู้ดำเนินรายการมีบทบาทในการทำหน้าที่ “พี่สาว” ที่คอยสอนความประพฤติโดยเน้นแนวคิดสมัยใหม่ ได้แก่ การสอนให้รักการเรียนเพื่อวางรากฐานในการประกอบอาชีพ การสอนให้ตระหนักถึงสิทธิและความเสมอภาคของชายหญิง การเห็นคุณค่าในตัวเองจากการทำงาน และการต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันก็มีการสืบทอดคำสอนที่มีมาแต่โบราณ ได้แก่ การสอนให้รักนวลสงวนตัว การสอนเรื่องความกตัญญู การสอนด้วยเรื่องเวรกรรม และการสอนเรื่องทำบุญให้ทาน รายการวิทยุ “คลับฟรายเดย์” จึงมีบทบาทเป็นพื้นที่ในการระบายความคับข้องใจให้กับคนที่ประสบปัญหาชีวิตรักในสังคมไทย

เรื่องเล่าในรายการวิทยุ “คลับฟรายเดย์” จึงนับว่าเป็น “คติชนสมัยใหม่” ของ “กลุ่มชาวเมือง” ที่ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับพื้นที่สื่อสาธารณะในสังคมไทยสมัยใหม่ในปัจจุบัน

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44520

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม