คติชนเกี่ยวกับขุนแผนในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี

คติชนเกี่ยวกับขุนแผนในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี

พัชนียา บุนนาค

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๕

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาลักษณะของข้อมูลคติชนเกี่ยวกับขุนแผนในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี
๒. เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบความทรงจำร่วมเรื่องขุนแผนในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี

สมมติฐานขงการวิจัย
คติชนประเภทต่าง ๆ เกี่ยวกับขุนแผนในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี สะท้อนให้เห็นการนับถือขุนแผนในฐานะที่เป็นวีรบุรุษท้องถิ่น และมีส่วนในการสร้างความทรงจำร่วมเรื่องขุนแผนในลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การสร้างความทรงจำร่วมเรื่องขุนแผนในจังหวัดกาญจนบุรีจะเน้นช่วงชีวิตของขุนแผนตอนเป็นทหารและผู้ปกครองเมือง ส่วนการสร้างความทรงจำร่วมเรื่องขุนแผนในจังหวัดสุพรรณบุรี จะเน้นช่วงชีวิตของขุนแผนตอนบวชเรียน

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษารวบรวมข้อมูลคติชนเกี่ยวกับขุนแผนในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์ลักษณะของข้อมูลคติชนเกี่ยวกับขุนแผน และเปรียบเทียบความทรงจำร่วมเรื่องขุนแผนจากข้อมูลคติชนประเภทต่าง ๆ ที่พบในจังหวัด ทั้งสอง โดยใช้แนวคิดเรื่องความทรงจำร่วมเป็นแนวทางในการศึกษาวิเคราะห์

คติชนเกี่ยวกับขุนแผนในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรีที่รวบรวมได้ มี ๕ ประเภท ได้แก่ ๑) ชื่อสถานที่และชื่ออื่น ๆ ๒) รูปเคารพ ๓) วัตถุมงคล ๔) จิตรกรรม และ ๕) เพลงพื้นบ้าน

ผลการศึกษาลักษณะของข้อมูลคติชน พบว่า คติชนเกี่ยวกับขุนแผนในจังหวัดกาญจนบุรีแตกต่างจากจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวคือ คติชนในจังหวัดกาญจนบุรีมักถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของขุนแผนตอนเป็นทหารและผู้ปกครองเมือง ส่วนคติชนในจังหวัดสุพรรณบุรีมักถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตตอนบวชเรียน

ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบความทรงจำร่วมเรื่องขุนแผน พบว่า ทั้งสองจังหวัดต่างนับถือขุนแผนในฐานะวีรบุรุษท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับการสร้างความทรงจำร่วมเรื่องขุนแผนผ่านคติชนประเภทต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัด การสร้างความทรงจำร่วมที่พบ ได้แก่ การอนุรักษ์และส่งเสริมสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับขุนแผนซึ่งเป็นการรักษาและสร้างพื้นที่แห่งความทรงจำร่วมเรื่องขุนแผนในท้องถิ่น การสร้างรูปเคารพเพื่อสืบทอดตำนานและพิธีกรรมเกี่ยวกับขุนแผนซึ่งช่วยตอกย้ำความเชื่อที่ว่าขุนแผนเคยมีตัวตนจริง และการสร้างคำขวัญ และการตั้งชื่อซึ่งแสดงให้เห็นว่าท้องถิ่นของตนเกี่ยวข้องกับขุนแผน ทั้งนี้ มีปัจจัยในการสร้างความทรงจำร่วม ๓ ประการ ได้แก่ การสืบทอดความทรงจำร่วมของท้องถิ่น การช่วงชิงความโดดเด่นในเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

ผลการวิเคราะห์การสร้างความทรงจำร่วมทำให้เห็นว่าขุนแผนในความทรงจำร่วมของชาวกาญจนบุรีมีลักษณะเป็นทหารผู้มีฝีมือเก่งฉกาจ และเป็นเจ้าเมืองที่คนท้องถิ่นเคารพนับถือ ส่วนขุนแผนในความทรงจำร่วมของชาวสุพรรณบุรีเป็นคนท้องถิ่นที่บวชเรียนจนมีความรู้เชี่ยวชาญทั้งการเขียนอ่านและวิชาไสยศาสตร์

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/36345