

ตัวละครผู้ช่วยเหลือในละครนิทานโทรทัศน์ร่วมสมัย: กรณีศึกษานิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องตุ๊กตาทอง
ดร.ณัฐพร ไข่มุกข์
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๔
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษารูปลักษณ์และบทบาทของตัวละครผู้ช่วยเหลือในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ทางโทรทัศน์ร่วมสมัยเรื่อง ตุ๊กตาทอง
๒. เพื่อวิเคราะห์ลักษณะสังคมร่วมสมัยที่สะท้อนผ่านตัวละครผู้ช่วยเหลือในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ทางโทรทัศน์เรื่องดังกล่าว
สมมติฐานของการวิจัย
ตัวละครผู้ช่วยเหลือในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ร่วมสมัยทางโทรทัศน์เรื่อง ตุ๊กตาทอง มีความ โดดเด่นทัดเทียมกับตัวละครเอกของเรื่อง เนื่องจากตัวละครผู้ช่วยเหลือทุกตัวมีรูปลักษณ์มหัศจรรย์ มีอิทธิฤทธิ์ นอกจากนี้ ตัวละครผู้ช่วยเหลือในเรื่อง ตุ๊กตาทอง ยังทำหน้าที่เป็นช่องทางในการสื่อความเป็นสังคมร่วมสมัยผ่านภาษาในบทสนทนา คำพูด ความคิดและทัศนคติของตัวละคร รวมทั้งความเป็นแฟนตาซีจากการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปลักษณ์และบทบาทของตัวละครผู้ช่วยเหลือในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ทางโทรทัศน์ร่วมสมัยเรื่อง ตุ๊กตาทอง ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ ระหว่างเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ และเพื่อวิเคราะห์ลักษณะสังคมร่วมสมัยที่สะท้อนผ่านตัวละครผู้ช่วยเหลือในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ทางโทรทัศน์ร่วมสมัยเรื่องดังกล่าว ผู้วิจัยใช้วิธีการดูละครทางโทรทัศน์และการดูรายการย้อนหลังทางเว็บไซต์ www.youtube.com เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
จากการศึกษาพบว่า ในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ร่วมสมัยทางโทรทัศน์เรื่อง ตุ๊กตาทอง มีตัวละครผู้ช่วยเหลือถึง ๑๑ ตัวคือ ยักษ์จักจั่น จ๊ะเอ๋ หลวงแม่ คนธรรพ์ ต้นหญ้าสีทอง มังกรสามหัว ครอบครัววานร เหล่านางกินรี พระแม่ ราชครู และขุนเหี้ยม-ขุนหาญ ตัวละครผู้ช่วยเหลือเป็นตัวละครที่ใช้ทั้งผู้แสดงที่เป็นคน และทั้งที่เป็นตัวละครที่สร้างขึ้นจากระบบคอมพิวเตอร์กราฟิก มีทั้งรูปลักษณ์ที่เป็นมนุษย์ ครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์และรูปลักษณ์มหัศจรรย์ ตัวละครผู้ช่วยเหลือแต่ละตัวมีอิทธิฤทธิ์ มีอำนาจครอบครองอาวุธวิเศษและมีความสามารถพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ ทำหน้าที่ช่วยเหลือตัวละครเอกทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้ายให้ปฏิบัติภารกิจจนสำเร็จ ส่งผลให้ตัวละครผู้ช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวมีความโดดเด่นทัดเทียมกับตัวละครเอกของเรื่อง
ผู้วิจัยพบว่า ตัวละครผู้ช่วยเหลือในเรื่อง ตุ๊กตาทอง ทำหน้าที่เป็นช่องทางในการสื่อความเป็นสังคมร่วมสมัยผ่านภาษาในบทสนทนา คำพูด ความคิดและทัศนคติของตัวละคร ค่านิยมร่วมสมัยในสังคมปัจจุบันบางประการที่สะท้อนจากละครเรื่อง ตุ๊กตาทอง เช่น การให้ความสำคัญกับความงามของรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าคุณธรรมความดี การให้ความช่วยเหลือแบบต่างตอบแทน ความเท่าเทียมกันในสังคม การให้โอกาสและการให้อภัยซึ่งกันและกัน ละครเรื่องนี้ยังนำเสนอลักษณะร่วมสมัยด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อแสดงความเป็นแฟนตาซีจากการสร้างตัวละครมหัศจรรย์ ความสามารถพิเศษของตัวละคร ฉากและสถานที่ต่าง ๆ ในเรื่องหลากหลายรูปแบบ
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์ คติชนวิทยา ปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยนเรศวร
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/29721