“ยักษ์” ในนิทานพื้นบ้านภาคเหนือของไทย: บทบาทและความหมายเชิงสัญลักษณ์

“ยักษ์” ในนิทานพื้นบ้านภาคเหนือของไทย: บทบาทและความหมายเชิงสัญลักษณ์

ผศ.ชลธิชา นิสัยสัตย์

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๒

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาบทบาทของตัวละครประเภทยักษ์ในนิทานพื้นบ้านภาคเหนือของไทย
๒. เพื่อวิเคราะห์ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของตัวละครประเภทยักษ์ในนิทานพื้นบ้านภาคเหนือของไทย

สมมติฐานของการวิจัย
๑. “ยักษ์” เป็นตัวละครที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านภาคเหนือของไทยหลายประเภท โดยมีบทบาทหลากหลาย กล่าวคือ นอกจากจะมีบทบาทเป็นตัวละครปฏิปักษ์ดังที่พบได้ในนิทานทั่วไปแล้ว ยังมีบทบาทอื่น ๆ อีก เช่น บทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือและผู้ทดสอบบารมีของตัวละครเอก ผู้ให้รางวัลและผู้ลงโทษ เป็นต้น
๒. “ยักษ์” ในนิทานพื้นบ้านภาคเหนือของไทยบางเรื่องมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่สามารถตีความได้ว่าหมายถึงความเชื่อดั้งเดิม ความเชื่อทางพุทธศาสนา และชนกลุ่มต่าง ๆ เป็นต้น

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาตัวละครประเภทยักษ์ในนิทานพื้นบ้านภาคเหนือของไทยในแง่ของบทบาทและความหมายเชิงสัญลักษณ์ โดยศึกษาจากเอกสารข้อมูลที่ตีพิมพ์แล้ว นิทานที่รวบรวมได้มีจำนวน ๑๓๙ เรื่อง ๒๓๘ สำนวน ประกอบด้วยนิทานทั้งที่เป็นสำนวนลายลักษณ์และสำนวนมุขปาฐะ

ผลการศึกษาพบว่า ในเชิงบทบาท ยักษ์ในนิทานพื้นบ้านภาคเหนือของไทยจำแนกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ยักษ์ที่เป็นตัวละครหลัก และยักษ์ที่เป็นตัวละครประกอบ ยักษ์ที่เป็นตัวละครหลักมีบทบาท ๓ ประการ คือ บทบาทตัวเอก นางเอก และตัวปฏิปักษ์ ส่วนยักษ์ที่เป็นตัวละครประกอบ มีบทบาท ๔ ประการ คือ บทบาทตัวปฏิปักษ์ ผู้ช่วยเหลือ ผู้ให้รางวัล และผู้ทดสอบ

ส่วนการวิเคราะห์ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของตัวละครประเภทยักษ์ในนิทานพื้นบ้านภาคเหนือของไทย พบว่ามีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) ความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่หมายถึงความเชื่อทางศาสนา ซึ่งตีความได้ว่ายักษ์เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อดั้งเดิมและความเชื่อทางพุทธศาสนา ๒) ความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่หมายถึงคน ซึ่งตีความได้ว่ายักษ์เป็นสัญลักษณ์ของชนพื้นเมือง บุคคลในครอบครัว และผู้มีอำนาจ และ ๓) ความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับหลักธรรมในพุทธศาสนา ซึ่งตีความได้ว่ายักษ์เป็นสัญลักษณ์ของมิจฉาทิฎฐิและกิเลส

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/16331