อนุภาคการให้รางวัลและการลงโทษในนิทานพื้นบ้านไทย: ลักษณะและความหมายเชิงวัฒนธรรม

อนุภาคการให้รางวัลและการลงโทษในนิทานพื้นบ้านไทย: ลักษณะและความหมายเชิงวัฒนธรรม

ณีรนุช แมลงภู่

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๒

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาลักษณะของอนุภาคการให้รางวัลและการลงโทษที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านไทยภาคต่าง ๆ
๒. เพื่อวิเคราะห์ความหมายเชิงวัฒนธรรมของอนุภาคการให้รางวัลและการลงโทษที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านไทยภาคต่าง ๆ

สมมติฐานของการวิจัย
อนุภาคการให้รางวัลและการลงโทษที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านไทยมีลักษณะร่วมทางความคิดในเรื่องผู้ให้รางวัลและผู้ลงโทษ รางวัลและโทษ ผู้ได้รับรางวัลและผู้ถูกลงโทษ ตลอดจนเงื่อนไขของการได้รับรางวัลและการถูกลงโทษ อนุภาคดังกล่าวสามารถสื่อให้เห็นความหมายเชิงวัฒนธรรมทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับสังคมไทยโดยรวม

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาอนุภาคการให้รางวัลและการลงโทษที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านไทยที่รวบรวมได้จากสารานุกรมวัฒนธรรม จำนวน ๘๙๗ เรื่อง มีอนุภาคทั้งสิ้น ๑,๙๖๑ อนุภาค เพื่อวิเคราะห์ลักษณะและความหมายเชิงวัฒนธรรมจากอนุภาคดังกล่าวทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสังคมไทยโดยรวม

ผลการศึกษาพบว่า อนุภาคดังกล่าวสะท้อนลักษณะร่วมทางความคิดว่า ๑) ผู้ให้รางวัลและผู้ลงโทษมักเป็นเพศชายที่เป็นชนชั้นสูงและเป็นพ่อหรือสามี และสิ่งเหนือธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีอนุภาคที่ไม่กล่าวถึงผู้ให้รางวัลหรือผู้ลงโทษ แต่กล่าวว่าตัวละครได้รับรางวัลหรือถูกลงโทษจากผลแห่งการกระทำหรือผลกรรมของตนเอง ๒) ผู้รับรางวัลและผู้ถูกลงโทษมักเป็นตัวละครชนชั้นล่าง คือ ทุคตะกำพร้า คนสามัญ และตัวละครหญิงที่เป็นภรรยาและลูกสาว ๓) การกระทำที่ได้รับรางวัลและการกระทำที่ถูกลงโทษเน้นเรื่องการทำดีและการทำความผิดทางพุทธศาสนา ความผิดเรื่องชู้สาว และการทำผิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๔) รางวัลที่ได้รับมักเป็นรางวัลเกี่ยวกับความร่ำรวยและการให้คู่ครอง ส่วนการลงโทษมักเป็นการลงโทษให้ถึงแก่ความตาย เนรเทศ และการลงโทษด้วยอำนาจวิเศษ ๕) เงื่อนไขของการได้รับรางวัลเน้นว่าจะได้รับรางวัลหากปกป้องบ้านเมือง ช่วยชีวิตสิ่งเหนือธรรมชาติ และทำความดีทางพุทธศาสนา ส่วนเงื่อนไขของการถูกลงโทษเน้นว่าหากผู้หญิงคบชู้หรือผู้ใดลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะถูกลงโทษ

อนุภาคการให้รางวัลและการลงโทษสื่อให้เห็นความหมายเชิงวัฒนธรรมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสังคมไทยโดยรวม กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจากลักษณะร่วมที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านของทุกภาค พบว่าสิ่งที่เน้นย้ำคือเรื่องของการทำความดีและความชั่วทางพุทธศาสนา แต่เมื่อพิจารณาจากลักษณะเฉพาะที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านแต่ละภาคพบว่า นิทานพื้นบ้านภาคเหนือสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการทำทาน ภาคอีสานให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารกิน ภาคกลางให้ความสำคัญกับการปกป้องบ้านเมือง และภาคใต้ให้ความสำคัญกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความกตัญญู ส่วนในระดับสังคมไทยโดยรวมพบว่า อนุภาคดังกล่าวสะท้อนความหมายเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับบรรทัดฐานของสังคมไทยซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องชนชั้น พุทธศาสนา สิ่งเหนือธรรมชาติ ความเหลื่อมล้ำทางเพศ และความสัมพันธ์ในครอบครัว

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/36286

ขอบคุณต้นฉบับภาพปกจาก https://www.vialibri.net/years/books/131889179/1975-stith-thompson-motif-index-of-folk-literature-stith