วรรณกรรมไทพวน: ความสัมพันธ์กับสังคม

วรรณกรรมไทพวน: ความสัมพันธ์กับสังคม

ผศ.ดร.ภาณุพงศ์ อุดมศิลป์

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๓๙

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาของวรรณกรรมไทพวนในอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
๒. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมไทพวนกับสังคม

สมมติฐานของการวิจัย
วรรณกรรมไทพวนสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวไทพวน

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์วรรณกรรมนิทานไทพวน ในอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมไทพวนกับสังคม

ผลการศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมนิทานไทพวนทั้ง ๑๐๑ เรื่อง แบ่งเป็นวรรณกรรมนิทานลายลักษณ์ ๓ เรื่อง และวรรณกรรมนิทานมุขปาฐะ ๙๘ เรื่อง พบว่าลักษณะโครงสร้างของวรรณกรรมนิทานไทพวนมีโครงเรื่องไม่ซับซ้อน และโครงเรื่องซับซ้อนตามประเภทของนิทานและความยาวของเนื้อเรื่อง วรรณกรรมนิทานลายลักษณ์มีกลวิธีในการเปิดเรื่องและปิดเรื่องคล้ายวรรณกรรมลายลักษณ์โดยทั่วไป ส่วนวรรณกรรมนิทานมุขปาฐะได้ปรับเปลี่ยนกลวิธีการเปิดเรื่องและปิดเรื่องอย่างง่าย ๆ ตามจุดประสงค์ในการเล่าและกลวิธีของผู้เล่า วรรณกรรมนิทานไทพวนส่วนใหญ่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับบุรพกรรมการบำเพ็ญทานบารมี ความรัก ชนชั้น และคุณธรรม โดยสะท้อนจากพฤติกรรมของตัวละครเป็นสำคัญ ลักษณะตัวละครในวรรณกรรมนิทานไทพวน ตัวละครเอกฝ่ายชายเป็นตัวละครในอุดมคติ มีชาติกำเนิดเป็นลูกกษัตริย์และเป็นตัวแทนของฝ่ายคุณธรรม ตัวละครเอกฝ่ายหญิงเป็นตัวละครแบบฉบับ ประพฤติแต่คุณงามความดีและมีความงามเป็นเลิศ ตัวละครฝ่ายร้ายมีทั้งมนุษย์และอมนุษย์ เป็นผู้ประพฤติแต่ความชั่วและจิตใจฝักใฝ่ในอกุศลมูล ส่วนตัวละครผู้ช่วยมีหน้าที่คอยช่วยเหลือตัวละครเอกให้รอดพ้นจากภยันตรายและยังช่วยเสริมบทบาทของตัวละครเอกให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ด้านความขัดแย้งของตัวละครมักเกิดจากความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง และความแตกต่างด้านฐานะทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ อันนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทั้งในระดับสังคมและระดับกลุ่มสังคมและระดับต่างสังคม

วรรณกรรมนิทานไทพวนมีบทบาทและหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ฟังในงานประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ให้การศึกษาและปลูกฝังค่านิยมด้านต่าง ๆ แก่คนในสังคม นอกจากนี้ยังช่วยเสริมวัฒนธรรมให้สมบูรณ์และเข้มแข็งขึ้น ช่วยรักษาแบบแผนของสังคม และช่วยสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตของชาวไทพวนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่ 
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/28844

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ