

รามเกียรติ์: ศึกษาในแง่การแพร่กระจายของนิทาน
ศิราพร ฐิตะฐาน
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๒๒
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อรวบรวมทฤษฎีของนักคติชนวิทยาเกี่ยวกับการแพร่กระจายของนิทาน
๒. เพื่อให้เห็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ อนุภาค และบทบาทของตัวละครในนิทาน เมื่อนิทานเรื่องนั้นได้รับการถ่ายทอดจากกาลเวลาและสภาพแวดล้อมอีกอย่างหนึ่ง
๓. เพื่อให้เห็นอิทธิพลของวัฒนธรรมของกลุ่มชนผู้รับเรื่องที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ อนุภาค และบทบาทตัวละคร
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาความผิดแผกและสาเหตุของความผิดแผกทางเนื้อหาของนิทานที่แพร่กระจายจากแหล่งหนึ่งสู่อีกแหล่งหนึ่ง ทั้งนี้ผู้วิจัยได้เลือกเรื่องรามเกียรติ์เป็นตัวอย่างสำหรับการศึกษาเฉพาะกรณี ข้อมูลที่หยิบยกขึ้นเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบ ได้แก่ รามเกียรติ์ สำนวนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระลัก-พระลาม และพระรามชาดก จากภาคอีสาน หรมานและพรหมจักรจากภาคเหนือ และรามเกียรติ์ฉบับบ้านควนเกยจากภาคใต้
ผลวิจัยปรากฏว่า เมื่อนิทานแพร่กระจายจากแหล่งหนึ่งไปสู่อีกแหล่งหนึ่งนั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ คือ เปลี่ยนรายละเอียด เพิ่มความ ลดความ สลับความ และสับสนความ
ในด้านการเปลี่ยนรายละเอียด ผู้วิจัยพบว่ามักเกิดในอนุภาคที่เป็นสาเหตุของพฤติกรรมและในอนุภาคที่เป็นวิธีการประกอบพฤติกรรม จุดแห่งการเปลี่ยนแปลงมักเกิดในตอนเริ่มเรื่อง ตอนที่เป็นข้อต่อของเรื่อง และตอนจบเรื่อง ทั้งนี้เพราะผู้เล่ามีจินตนาการที่จะดัดแปลงเรื่องให้แปลกออกไป หรือมีเหตุผลที่จะนำรายละเอียดที่คุ้นเคยเข้ามาแทนเรื่องที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งเปลี่ยนเนื้อหาให้ดูสมเหตุสมผลตามทัศนะของตน
ผู้วิจัยพบว่า นิทานท้องถิ่นมีอิทธิพลสำคัญต่อการเพิ่มความ เช่นมีการเพิ่มตัวละครที่นิยมกันในท้องถิ่นเข้าไปในนิทานที่รับจากต่างถิ่น ปรากฏว่าในสำนวนอีสาน พญานาคมาเป็นผู้สร้างเมืองให้บรรพบุรุษพระราม เป็นผู้ลักพระรามลงไปบาดาล ยิ่งกว่านั้นธิดาพญานาคยังได้มาเป็นชายาของพระรามและหนุมานด้วย ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มเหตุการณ์ที่พระเอกได้ชายาตามรายทางระหว่างที่ออกผจญภัย ซึ่งเป็นที่นิยมในนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ทั่วไปเข้าไปในพระรามชาดก พระรามจึงได้นางยักษ์ นางนาค นางไม้ หรือเทพธิดาเป็นชายา ในแง่นี้ จึงมีผลให้บุคลิกของพระรามผิดไปด้วย นอกจากนั้นยังมีการผนวกนิทานท้องถิ่นทั้งเรื่องโดยเฉพาะเรื่องสังข์ศิลป์ชัย เข้าไปในพระรามชาดก
ประเพณีพื้นบ้านย่อมมีส่วนกำหนดพฤติกรรมตัวละคร ในนิทานพระรามสำนวนอีสาน ปรากฏว่าเมื่อหนุมานเข้าไปในลงกา ก็จะเว้าผญาเกี้ยวสาวลงกาตามแบบหนุ่มอีสาน หรือเมื่อพระรามพระลักษมณ์กลับจากสงคราม ก็มีการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ นอกจากนั้นตัวละครในเรื่องมักมีค่านิยม ความคิด ตลอดจนความเชื่อ เช่นเดียวกับคนท้องถิ่นนั้น ๆ
ในนิทานพระรามสำนวนท้องถิ่นมักคงไว้แต่ตัวเอกของเรื่อง คือ พระราม ทศกัณฐ์ หนุมาน พาลี สุครีพ และสีดา ส่วนตัวละครปลีกย่อย เช่น พระพรต พระสัตรุต ไกยเกษี สำมนักขา และตัวละครไม่สำคัญอื่น ๆ จะถูกตัดทิ้งไป การลดตัวละครย่อมหมายถึงการลดโครงเรื่องด้วย ในช่วงสงครามจึงมีแต่ตอนลักพระรามไปบาดาล และตอนโมกขศักดิ์เท่านั้น สำนวนท้องถิ่นจึงสั้น และดำเนินความรวบรัดกว่าสำนวนพระราชนิพนธ์มาก ทั้งนี้เพราะนิทานพื้นบ้านคำนึงถึงโครงเรื่องใหญ่เพียงโครงเดียว ดังนั้นตัวละครหรือเหตุการณ์ใดที่เป็นส่วนของโครงเรื่องย่อยจะถูกลด
การสับสนความเป็นสิ่งที่พบเสมอในนิทานพระรามสำนวนท้องถิ่น คือ มีความสับสนระหว่างบทบาทของนางสีดากับนางมณโฑ ระหว่างวิธีการรักษาพิษหอกโมกขศักดิ์ หอกกบิลพัทและศรพรหมสตร์ นอกจากนั้นยังสับสนความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ในสำนวนท้องถิ่นกล่าวว่า พระราม ทศกัณฐ์และสุครีพ มีบรรพบุรุษเดียวกัน ดังนั้นตัวละครเหล่านี้จึงเป็นพี่น้องกันหมด หรือบางสำนวน อินทรชิตกลายเป็นน้องของทศกัณฐ์ และบางสำนวนพระรามได้โอรสทศกัณฐ์มาเป็นที่ปรึกษาการสงคราม แทนที่จะเป็นพิเภกอนุชา
ในกระบวนการแพร่กระจายของนิทานนั้น มีแนวโน้มที่เนื้อหาของนิทานจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและยุคสมัย แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้น นิทานเรื่องหนึ่ง ๆ จะยังคงรักษาโครงเรื่องหรือเอกลักษณ์อันแสดงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้เสมอ ตลอดระยะเวลาแห่งการถ่ายทอดนิทาน
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/62297