ความขัดแย้งและการประนีประนอมในตำนานปรัมปราไทย

ความขัดแย้งและการประนีประนอมในตำนานปรัมปราไทย

ปรมินท์ จารุวร

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๔๗

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อวิเคราะห์ความขัดแย้งและการประนีประนอมที่ปรากฏในตำนานปรัมปราไทย
๒. เพื่อตีความสัญลักษณ์และวิเคราะห์สารสำคัญที่สะท้อนจากนิทานปรัมปราไทย 

สมมติฐานของการวิจัย
ความขัดแย้งและการประนีประนอมทางความเชื่อทางศาสนาและความขัดแย้งและการประนีประนอมระหว่างกลุ่มชนต่าง ๆ เป็นสารสำคัญที่สะท้อนจากตำนานปรัมปราไทย

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้เป็นการศึกษาตำนานปรัมปราในสังคมวัฒนธรรมไทยโดยประยุกต์วิธีการศึกษาแบบ โครงสร้างนิยมของโคลด เลวี่-สเตราส์เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อตีความสัญลักษณ์และวิเคราะห์สารสำคัญที่สะท้อนจากตำนานปรัมปราไทย

ผู้วิจัยแบ่งประเภทตำนานปรัมปราไทยเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๔ ประเภทคือ ๑) ตำนานปรัมปราที่อธิบายธรรมชาติหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วย ตำนานสร้างโลก ตำนานข้าว ตำนานสุริยคราสและจันทรคราส และตำนานฝน ๒) ตำนานปรัมปราที่อธิบายความเป็นมาของผู้นำทางวัฒนธรรมและเมืองโบราณ ซึ่งประกอบด้วยตำนานวีรบุรุษ และตำนานเมือง ๓) ตำนานปรัมปราที่อธิบายการเผยแผ่พุทธศาสนาในดินแดนไทย-ไท ซึ่งประกอบด้วยตำนานพระธาตุ ตำนานพระพุทธบาท และตำนานพระพุทธรูป และ ๔) ตำนานปรัมปราที่อธิบายประเพณีพิธีกรรม

การวิเคราะห์เชิงโครงสร้างทำให้เห็นว่า ตัวละครในตำนานปรัมปราไทยจำแนกออกได้เป็น ๔ กระบวนทัศน์ใหญ่ ๆ คือ ตัวละครในกระบวนทัศน์ของความเชื่อดั้งเดิม ตัวละครในกระบวนทัศน์ของชนกลุ่มต่าง ๆ ตัวละครในกระบวนทัศน์ของความเชื่อทางพุทธศาสนา และตัวละครในกระบวนทัศน์ของตัวเชื่อม ซึ่งพฤติกรรมสัญลักษณ์ที่แสดงความสัมพันธ์ของตัวละครต่าง ๆ เหล่านี้ กลุ่มหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งและการยอมรับกันของคนทั้งที่เป็นคนกลุ่มเดียวกันและคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์

ผลวิจัยสรุปได้ว่า ตำนานปรัมปราไทยได้สะท้อนให้เห็นปมปัญหาขัดแย้งในใจของบรรพชนไทยในเรื่องการเลือกรับนับถือศาสนาระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับพุทธศาสนาประการหนึ่ง และเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์กับคนภายในกลุ่มและคนต่างกลุ่มอีกประการหนึ่ง การวิเคราะห์ตำนานปรัมปราในเชิงโครงสร้างนี้ยังทำให้เข้าใจถึงมูลเหตุที่คนไทยหันมายอมรับนับถือพุทธศาสนา ทั้งยังสามารถนำมาอธิบายสังคมไทยที่มีลักษณะของสังคมแห่งการประนีประนอมได้อีกด้วย การวิจัยนี้จึงเป็นการชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของตำนานปรัมปราไทยทั้งในแง่ของการเป็นข้อมูลที่บันทึกร่องรอยความขัดแย้งเกี่ยวกับความคิดความเชื่อทางศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างชนกลุ่มต่าง ๆ และการเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาอธิบายลักษณะที่เป็นจริงของสังคมไทยได้ แม้ตำนานปรัมปราไทยจะถูกมองว่าเป็นเรื่องเหนือจริงก็ตาม

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/66325

 

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพเปิดเรื่อง : โคลด เลวี่-สเตราส์ ในปี พ.ศ.2548 (Claude Lévi-Strauss in 2015) ที่มา : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Levi-strauss_260.jpg