อ่านนิทาน “อ่านมนุษย์” (๑)

อ่านนิทาน “อ่านมนุษย์”[1] (๑)

ศิราพร ณ ถลาง [2]

คติชนวิทยากับความเป็นมนุษย์

        วิชาคติชนวิทยา (Folklore) ซึ่งเป็นวิชาหนึ่งในสาขามนุษยศาสตร์ที่ศึกษามนุษย์ผ่านข้อมูลคติชนซึ่งเป็นผลผลิตจากความคิด จินตนาการ อารมณ์ และการแสดงออกของมนุษย์  นักคติชนจะศึกษาวัฒนธรรมส่วนที่เป็นศิลปะการแสดงออก (expressive art) ของมนุษย์ผ่านคติชนประเภทที่ใช้ถ้อยคำ (verbal folklore) เช่น นิทาน เพลง สุภาษิต ปริศนาคำทาย, คติชนที่เป็นการแสดง (performing folklore) เช่น การละเล่น การแสดง ดนตรี ละครพื้นบ้าน, คติชนที่เป็นวัตถุ (material folklore) เช่น ผ้าทอ เครื่องจักสานเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน และคติชนที่เป็นธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ (customary folklore) ครอบคลุมความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ พิธีกรรมรักษาโรคแบบพื้นบ้าน พิธีกรรมตามปฏิทิน พิธีกรรมในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ข้อมูลคติชนทั้ง ๔ ประเภทนี้จะทำให้เข้าใจทั้งความคิด อารมณ์ ปัญญา และความสามารถของมนุษย์ได้ในหลากหลายมิติ

        ในวิชาคติชนวิทยา คติชนแต่ละประเภทยังแยกออกเป็นประเภทย่อย ๆ (genre) อีกหลายประเภท เช่น คติชนที่ใช้ถ้อยคำที่เป็นนิทานพื้นบ้าน (folktale) ก็ยังแบ่งได้อีกเป็น ๑๐ ประเภทย่อย ได้แก่ ตำนานปรัมปรา (myth) นิทานประจำถิ่น (legend) นิทานมหัศจรรย์ (fairytale) นิทานมุขตลก (joke) นิทานอธิบายเหตุ (explanatory tale)  นิทานเรื่องโม้ (tall tale) นิทานลูกโซ่ (chain tale) นิทานเรื่องผี (ghost tale) นิทานเรื่องสัตว์ (animal tale) นิทานศาสนาสอนใจ (didactic tale)

        นิทานแต่ละประเภทดังกล่าวข้างต้นนี้จะมีลักษณะเฉพาะของเนื้อหา วิธีการเล่า และบทบาทหน้าที่ที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น myth เป็นเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับตัวละครที่เป็นพระเจ้า เทพ เทวดา มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอธิบายกำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ และเป็นเรื่องเล่าที่ใช้อธิบายที่มาของการประกอบพิธีกรรม เช่น ตำนานเรื่อง พญาคันคาก ใช้อธิบายที่มาของพิธีจุดบั้งไฟ, สำหรับ legend เป็นเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับ locality หรือท้องถิ่น เกี่ยวกับบุคคลหรือวีรบุรุษในท้องถิ่น มีเรื่องราวที่สัมพันธ์กับท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง หรือใช้อธิบายที่มาของสถานที่ในท้องถิ่น เช่น นิทานเรื่อง ผาแดง-นางไอ่ ใช้อธิบายหนองหารซึ่งเป็นน้ำขนาดใหญ่ว่าเป็นเพราะมีเมืองล่มอยู่เบื้องล่างหนองน้ำ.

        ส่วน fairytale เป็นเรื่องการผจญภัยของตัวละครประเภทเจ้าหญิงเจ้าชายที่มักมีผู้ช่วยหรือของวิเศษ พระเอกต้องต่อสู้กับพันธกิจบางประการ ท้ายที่สุดได้แต่งงานกับนางเอก เป็นเรื่องเล่าเพื่อความสนุกสนาน เต็มไปด้วยจินตนาการถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง. อนึ่ง ตัวละครในเรื่องมักเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อ-ลูกชาย, แม่-ลูกสาว, แม่เลี้ยง-ลูกเลี้ยง, เมียหลวง-เมียน้อย, พ่อตา-ลูกเขย, แม่สามี-ลูกสะใภ้ ฯลฯ คู่ขัดแย้งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความขัดแย้งในครอบครัวในชีวิตจริงในสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ ในโลก. Fairytale มักหยิบยื่น “ทางออก” ที่ตอบสนองความปรารถนาทางใจให้กับคู่ขัดแย้งในครอบครัวในชีวิตจริง

        สำหรับ joke เป็นเรื่องเล่าตลกขำขันเพราะตัวละครมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานพฤติกรรมทางสังคมบางประการ เช่น คนพิการ คนโง่-คนฉลาด หรือ เป็นเรื่องตลกเพราะได้ยั่วล้อบรรทัดฐานทางสังคมบางประการ เรื่องใดที่สังคม “ห้าม” เรื่องเหล่านั้นมักเป็นเนื้อหาของ joke เช่น นิทานมุขตลกเกี่ยวกับ “พี่เขย-น้องเมีย” หรือ “ตาเถร-ยายชี” หรือนิทาน “ศรีธนญชัย” ที่ตัวเอกสามารถทำให้ “ผู้ปกครอง” เสียหน้าหรือได้อาย. นิทานเรื่อง joke จึงมีบทบาทหน้าที่เป็นทางออกทางจิตใจให้กับผู้คนในสังคมที่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดบางประการ

       ในระยะแรกเริ่มของการมีวิชาคติชนวิทยา ประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นักคติชนได้รวบรวมนิทานจากแหล่งต่าง ๆ ในโลก เช่น ยุโรป (สแกนดิเนเวีย รัสเซีย สเปน กรีก อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ) อินเดีย อเมริกันอินเดียนแดง ฮาวาย จีน เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อัฟริกา ฯลฯ   ต่อมาได้พยายามแยกตัวบทนิทานแต่ละเรื่องจากแหล่งกำเนิดนิทานต่าง ๆ ทั่วโลกออกเป็นหน่วยย่อยที่สุดที่นักคติชนเรียกว่า อนุภาค (motif) แล้วจัดหมวดหมู่อนุภาคที่เป็นจินตความคิดสากลของมนุษย์ได้เป็น ๒๖ หมวด ตั้งแต่หมวด A-Z เช่น หมวด A เกี่ยวกับปกรณัมปรัมปรา (mythological motifs) หมวด B สัตว์ (Animals)  หมวด C ข้อห้าม (Tabu) หมวด D ความวิเศษ (Magic) หมวด H การทดสอบ (Tests) หมวด K การหลอกลวง (Deceptions) หมวด Q รางวัลและการลงโทษ (Rewards and Punishments) หมวด T เพศ (Sex – ความรัก การแต่งงาน การเกิด) เป็นต้น แล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือชุด Motif-Index of Folk Literature (ดัชนีอนุภาคนิทานพื้นบ้าน) มี ๖ เล่ม. จึงอาจกล่าวได้ว่าหนังสือชุดนี้เป็น “ขุมทรัพย์แห่งจินตความคิดของมนุษยชาติ” ที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง.

หนังสือชุด Motif-Index of Folk Literature ที่มา: https://www.vialibri.net/years/books/131889179/1975-stith-thompson-motif-index-of-folk-literature-stith

         จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และงานสร้างสรรค์จากจินตนาการ เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั่วไป.  จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในหัวของคนที่เป็น “นักประดิษฐ์” เท่านั้น แต่มีอยู่ในหัวของมนุษยชาติทุกคน.

        ในหัวข้อต่อ ๆ ไป ผู้เขียนจะนำเสนอให้เห็น “ลักษณะร่วม” ของมนุษยชาติในหลากหลายแง่มุมของ “ความเป็นมนุษย์”   โดยจะวิเคราะห์ผ่านตัวบทนิทานหลากหลายประเภทที่พบอย่างเป็นสากลในคลังเรื่องเล่าของกลุ่มชนต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งนิทานแต่ละประเภท เช่น ตำนานปรัมปรา นิทานมหัศจรรย์ นิทานประจำถิ่น นิทานมุขตลก ฯลฯ จะสะท้อน “ความเป็นมนุษย์” ในแง่มุมที่ต่างกัน.

หมายเหตุ

[1] ข้อเขียนนี้ ข้าพเจ้าเขียนให้เนื่องในโอกาสการเปิดตัวเว็บไซต์ https://www.arts.chula.ac.th/folklore/ ของ ศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[2] ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพเปิดเรื่องโดย Victoria Priessnitz จาก unsplash.com

ผู้เขียน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง
คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย