

การดำรงอยู่ของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในสังคมไทยปัจจุบัน: กรณีศึกษาหมู่บ้านดอนโพธิ์ ตำบลชายนา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ผศ.ดร.ณมน ปุษปาพันธุ์
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๓
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. รวบรวมข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวที่ยังคงดำรงอยู่ในหมู่บ้านดอนโพธิ์ ตำบลชายนา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๒. วิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในหมู่บ้านดอนโพธิ์ในปัจจุบัน
๓. วิเคราะห์ปัจจัยในการดำรงอยู่ของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในหมู่บ้านดอนโพธิ์ในปัจจุบัน
สมมติฐานของการวิจัย
๑. ในหมู่บ้านดอนโพธิ์ยังคงมีความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับข้าว อาทิ ความเชื่อเรื่องแม่โพสพ เรื่องเจ้ามุ่ง เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ยังคงมีการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับข้าวในปัจจุบัน
๒. ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวยังคงมีบทบาทในการสร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวนาที่หมู่บ้านดอนโพธิ์
๓. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการดำรงอยู่ของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวที่หมู่บ้านดอนโพธิ์มีหลายประการ อาทิ ผู้ประกอบพิธีกรรม ทำเลที่ตั้งหมู่บ้าน และภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะรวบรวมข้อมูลความเชื่อและพิธีกรรมที่ดำรงอยู่ในหมู่บ้านดอนโพธิ์ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๓) รวมทั้งวิเคราะห์บทบาทหน้าที่และการดำรงอยู่ของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว โดยใช้ระเบียบวิธีและกรอบความคิดทางด้านคติชนวิทยาและมานุษยวิทยา
ผลการศึกษาพบว่าความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวที่พบในหมู่บ้านดอนโพธิ์เป็นหลักฐานที่สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าชาวนาในหมู่บ้านดอนโพธิ์ยังคงมีความเชื่อและยังคงประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับข้าว จะเห็นได้จากจำนวนชาวนา ๗๕ ครอบครัว ยังคงมีผู้ประกอบพิธีทำขวัญข้าว ๔๕ ครอบครัวถึงแม้ว่าความเชื่อและพิธีกรรมดังกล่าวได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยก็ตาม
ความเชื่อเกี่ยวกับข้าวที่พบคือ ความเชื่อเกี่ยวกับแม่โพสพ ซึ่งเป็นความเชื่อที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ เช่น เจ้าทุ่ง เจ้าที่ แม่ธรณี แม่คงคา เป็นต้น ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม ความเชื่อเรื่องคาถาอาคมและเลขมงคล รวมทั้งการบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา
พฤติกรรมเกี่ยวกับข้าวที่ปรากฏในหมู่บ้านดอนโพธิ์และชาวนายังยึดถือปฏิบัติกันในปัจจุบันซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ พิธีกรรมที่สืบทอดมาจากอดีต ๔ พิธี ได้แก่ พิธีแรกหว่าน พิธีทำขวัญ พิธีแรกเกี่ยว พิธีรับขวัญข้าวเข้าบ้าน และพิธีกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ ๖ พิธี ได้แก่ พิธีบอกกล่าวหรือบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนเริ่มต้นทำนา พิธีบอกกล่าวหรือบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนเริ่มหว่านข้าว พิธีเชิญแม่โพสพเข้าร่มก่อนฉีดยา พิธีบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมื่อประสบปัญหาหรือภัยพิบัติ พิธีบนบานในช่วงการเก็บเกี่ยว พิธีการแก้บนหลังการเก็บเกี่ยว
ความเชื่อ ตำนานและพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในหมู่บ้านดอนโพธิ์มีบทบาท ๒ ด้านใหญ่ ๆ คือ บทบาททางด้านจิตใจ กล่าวคือ พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวนา และบทบาททางด้านสังคม คือ บทบาทของความเชื่อและเรื่องเล่าเกี่ยวกับแม่โพสพที่ทำให้เกิดพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว บทบาทของความเชื่อและพิธีกรรมในฐานะเป็นองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม และที่นำไปสร้างรูปเคารพและผ้ายันต์
ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการสืบทอดและดำรงอยู่ของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว พบว่ามีอยู่ ๕ ประการ คือ การดำรงอยู่ของผู้ประกอบพิธีกรรมเพื่อสืบทอดพิธีกรรม การดำรงอยู่ของความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ การมีภัยพิบัติทางธรรมชาติ ศัตรูข้าวและโรคข้าว ต้นทุนในการทำนาสูง และทำเลที่ตั้งหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากถนนสายหลัก
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย
คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58158