ลัทธิพิธีการนับถือเจ้าแม่สองนางกับชุมชนชายฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง

ลัทธิพิธีการนับถือเจ้าแม่สองนางกับชุมชนชายฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง

ผศ.ดร.ภาณุพงศ์ อุดมศิลป์

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๔

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. รวบรวมและวิเคราะห์ความเชื่อและตำนานเรื่องเจ้าแม่สองนางในชุมชนชายฝั่งลุ่มน้ำโขง
๒. เพื่อศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบของพิธีกรรมเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนาง
๓. เพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่ของลัทธิพิธีเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนางที่มีต่อชุมชนชายฝั่งลุ่มน้ำโขง

สมมติฐานของการวิจัย
๑. ความเชื่อเรื่องเจ้าแม่สองนางที่ปรากฏตามชุมชนชายฝั่งลุ่มน้ำโขงสะท้อนเส้นทางการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจากฝั่งลาวมาฝั่งไทย
๒. พิธีกรรมเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนางประกอบด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านวัตถุสัญลักษณ์ และพฤติกรรมสัญลักษณ์ ที่สะท้อนสถานภาพของเจ้าแม่สองนางและความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์
๓. ลัทธิพิธีเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนางมีบทบาทสำคัญต่อชุมชนชายฝังลุ่มน้ำโขง ในการสร้างจิตสำนึกในความเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน สร้างความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ สร้างความสุขและความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน และช่วยเน้นย้ำประเพณีและพิธีกรรมเก่าแก่ของชุมชนให้เข้มแข็ง

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาความเชื่อและตำนานเจ้าแม่สองนางที่พบในชุมชนชายฝั่งลุ่มน้ำโขง บทบาทของลัทธิพิธีเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนางที่มีต่อชุมชนชายฝั่งลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะพิธีกรรมเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนาง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร โดยมีขอบเขตวิจัยในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔

ผลการศึกษาพบว่า มีตำนานเจ้าแม่สองนางอยู่ใน ๑๓ ชุมชนชายฝั่งลุ่มน้ำโขง ๒๒ สำนวน สำนวนมุขปาฐะ ๑๕ สำนวน และลายลักษณ์ ๗ สำนวน แบ่งได้เป็น ๓ แบบเรื่อง (tale type) แบบเรื่องที่ ๑ ธิดาเจ้าเมืองอพยพหนีสงครามทางเรือแล้วเรือล่มเสียชีวิต แบบเรื่องที่ ๒ ธิดาเจ้าเมืองอพยพมาทางบก ป่วยแล้วเสียชีวิต และแบบเรื่องที่ ๓ ธิดาเจ้าเมืองอาศัยอยู่ในหัวเมืองจนกระทั่งเสียชีวิต แบบเรื่องที่พบมากที่สุด คือ แบบเรื่องที่ ๑ ทั้ง ๓ แบบเรื่องล้วนเกี่ยวกับความเชื่อว่าเจ้าแม่เป็นเทพประจำศาลหลักบ้านตั้งแต่ตั้งชุมชน ชาวบ้านในชุมชนชายฝั่งลุ่มน้ำโขงล้วนเกี่ยวข้องกับเจ้าแม่สองนางที่มาจากลาว

พิธีกรรมเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนาง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหารเป็นพิธีกรรมใหญ่และสำคัญที่สุดเนื่องจากเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ๔ พิธี ได้แก่ พิธีบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง ประเพณีส่วงเฮือประจำปี ประเพณีสงกรานต์และถวายเครื่องบรรณาการแด่เจ้าแม่สองนางและเจ้าพ่อฟ้ามุงเมือง และพิธีถวายเครื่องบรรณาการแด่องค์พระธาตุพนม ทุกพิธีกรรมประกอบด้วยสัญลักษณ์ที่แสดงสถานภาพของเจ้าแม่สองนางเหมือนเจ้าเมืองมุกดาหารและบรรพบุรุษในอดีต ที่ลงมาพบปะลูกหลานและให้ความหวังเรื่องความอุดมสมบูรณ์ และความมั่งคั่งแก่ชุมชน ขจัดปัดเป่าเคราะห์ภัยและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ลูกหลานและชุมชน

พิธีกรรมเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนางแสดงให้เห็นบทบาทต่อชุมชนชายฝั่งลุ่มน้ำโขงในหลายมิติ บทบาทเหล่านี้ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม ตำนานเจ้าแม่สองนางมีบทบาทในการแสดงสำนึกร่วมความเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ที่มีบรรพบุรุษร่วมกันที่อพยพมาตั้งชุมชนตามชายฝั่งลุ่มน้ำโขงฝั่งไทยในอดีต พิธีกรรมมีบทบาทในการให้ความหวังเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่งคั่งแก่ชุมชน มีบทบาทในการให้ความหวังด้านความปลอดภัย การปกป้องคุ้มครอง และขจัดปัดเป่าภัย เพื่อเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจให้แก่ลูกหลาน มีบทบาทในการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันและมีบทบาทในการสร้างเครือข่ายผู้สืบทอดอำนาจหน้าที่ทางวัฒนธรรมให้แก่ชุมชนอีกด้วย

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58158

 

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ