พระอุปคุต: การสืบทอดและการผลิตซ้ำความเชื่อ ตำนานและพิธีกรรมในสังคมไทยปัจจุบัน

ผศ.ดร.วัชราภรณ์ ดิษฐป้าน

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๗

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาความเชื่อ ตำนานและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุตในสังคมไทยปัจจุบัน
๒. เพื่อวิเคราะห์การสืบทอดและการผลิตซ้ำความเชื่อ ตำนานและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุตในสังคมไทยปัจจุบัน

สมมติฐานของการวิจัย
ความเชื่อ ตำนาน และพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุตในปัจจุบันมีทั้งลักษณะที่เป็นการสืบทอด และยังดำรงอยู่ในบริบทของสังคมท้องถิ่นโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน และในลักษณะที่เป็นการผลิตซ้ำในบริบทใหม่ ทั้งในรูปแบบของการสร้างความหมายใหม่และการประดิษฐ์ประเพณีใหม่ ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุตในสังคมไทยปัจจุบัน

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสืบทอดและการผลิตซ้ำความเชื่อ ตำนานและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุตในสังคมไทยปัจจุบัน ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลในช่วง พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๗ ทั้งข้อมูลเอกสาร ข้อมูลภาคสนาม และข้อมูลในสื่อสมัยใหม่ ทั้งในบริบทท้องถิ่นภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลาง และบริบทของสังคมไทยในเชิงภาพรวม

ผลการศึกษาตำนานเกี่ยวกับพระอุปคุต ผู้วิจัยได้จัดประเภทตำนานพระอุปคุตในประเทศไทยออกเป็น ๖ แบบเรื่อง ได้แก่ แบบเรื่องพระอุปคุตเป็นลูกนางปลา แบบเรื่องพระอุปคุตเป็นลูกพระพุทธเจ้า แบบเรื่องพระอุปคุตปราบมาร แบบเรื่องพระอุปคุตบันดาลโชค แบบเรื่องพระอุปคุตแปดรูป และแบบเรื่องพระอุปคุตหยุดตะวัน ผู้วิจัยพบว่าในการผลิตซ้ำตำนานพระอุปคุตในสื่อสมัยใหม่ในรูปแบบซีดี สื่อกระจายเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเทอร์เน็ต มีการนำเนื้อเรื่องจากคัมภีร์อโศกาวทานมาผนวกกับแบบเรื่องพระอุปคุตปราบมาร จนกลายเป็นเนื้อหาหลักที่แพร่หลายในสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน

ผลการศึกษาประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุต พบว่ายังคงมีการสืบทอดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ พิธีนิมนต์พระอุปคุตมาคุ้มครองงานบุญทางพุทธศาสนา ประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ด และประเพณีลอยปราสาทบูชาพระอุปคุต ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุตดำรงอยู่อย่างมีพลวัต โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของประเพณีและพิธีกรรมอันเป็นผลจากกระแสการท่องเที่ยว และการเข้าไปมีบทบาทของภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังพบลักษณะพลวัตข้ามพื้นที่ คือ การนำประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดมาผลิตซ้ำในพื้นที่ภาคกลาง แม้ยังคงรูปแบบหลักตามประเพณีตักบาตรพระอุปคุตในภาคเหนือ แต่มีการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาของการตักบาตรพระอุปคุต มีการเพิ่มหรือเน้นองค์ประกอบที่เป็นรูปธรรมของสัญลักษณ์เกี่ยวกับพระอุปคุต นอกจากนี้ยังพบพลวัตอีกลักษณะหนึ่ง คือ การสร้างความหมายใหม่ให้แก่พระอุปคุตในมิติของพระเครื่องและวัตถุมงคล ทำให้เกิดมโนทัศน์ “พระอุปคุตปราบมาร บันดาลโชค”

ปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้เกิดการสืบทอดและการผลิตซ้ำความเชื่อเกี่ยวกับพระอุปคุตทั้งในพื้นที่เดิมและพื้นที่ใหม่มาจากลักษณะเด่นของพระอุปคุตและบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะลักษณะเด่นด้านการคุ้มครองป้องกัน ลักษณะอันคลุมเครือ และคุณลักษณะทั้งด้านโลกียะและโลกุตระที่มีรากฐานจากพุทธศาสนา ลักษณะเด่นของพระอุปคุตสอดคล้องกับบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน ทั้งยังตอบสนองความต้องการของพุทธศาสนิกชนในสังคมพุทธศาสนาแบบไทย ทำให้เกิดการสืบทอดและการผลิตซ้ำความเชื่อ ตำนาน และพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุตอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยปัจจุบัน

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55412