นิทานพื้นบ้านเยอรมัน

อำภา โอตระกูล, แปลและเรียบเรียง. นิทานพื้นบ้านเยอรมัน. กรุงเทพฯ: ศูนย์การแปล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๓.

        หนังสือ “นิทานพื้นบ้านเยอรมัน” เป็นหนังสือที่รวบรวมนิทานพื้นบ้านเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนเยอรมัน โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูลได้เรียบเรียงเล่าเป็นภาษาไทยให้ผู้อ่านที่เป็นคนไทยสามารถเข้าใจและเข้าถึงเนื้อเรื่องนิทานได้โดยเพลินเพลินไปกับการเรียนรู้เรื่องราวจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง

        ผู้แปลแบ่งกลุ่มนิทานที่รวบรวมไว้เป็น ๔ กลุ่ม โดยเริ่มจากกลุ่มนิทานกริมม์ นิทานหลายเรื่องในกลุ่มนี้อยู่ในการรับรู้ของคนไทยหลายคน เช่น นิทานเรื่องนักดนตรีแห่งเมืองเบรเมน คือ ลา หมา แมว และไก่ การรวมตัวกันของสัตว์ทั้งสี่ตัวที่ทำให้นิทานเรื่องนี้โดดเด่นจากเรื่องอื่นและเป็นที่จดจำของคนที่ได้ฟังได้อ่านนิทานเรื่องนี้  นิทานเรื่องราพุนเซล เจ้าหญิงผมยาวที่ถูกกักขังอยู่บนหอคอยสูง ต้นเค้าของสำนวนการ์ตูนอันโด่งดังในโลกปัจจุบัน

        นิทานกลุ่มที่สองคือนิทานตำนาน หากจำแนกนิทานกลุ่มนี้ตามแนวทางศึกษาของคติชนวิทยาแล้ว จะประกอบด้วยนิทานประเภทตำนานประจำถิ่นและนิทานอธิบายเหตุ สำหรับนิทานประเภทตำนานประจำถิ่น ผู้แปลจะเล่าถึงลักษณะของ “ถิ่น” นั้นโดยคร่าวก่อนที่จะเริ่มเล่าเรื่องนิทาน ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักท้องถิ่นต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนี และได้ย่นระยะทางระหว่างผู้อ่านและตัวเรื่องนิทาน ผู้อ่านจึงสามารถจินตนาการภาพภูมิทัศน์แวดล้อมของตัวละครในนิทานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การอ่านนิทานจึงสนุกขึ้นอีกมาก

        นิทานกลุ่มที่สามคือนิทานตลก อันประกอบด้วยนิทานกลุ่มทิล ออยเลนชะปีเกล หรือศรีธนญชัยเยอรมัน และนิทานชาวเมืองชิลด้าหนึ่งเรื่อง สำหรับนิทานกลุ่มทิล ออยเลนชะปีเกล ผู้อ่านจะรู้สึกถึงความคุ้นเคยที่แฝงฝังอยู่ในนิทานกลุ่มนี้ เพราะตัวละครและเนื้อเรื่องนั้นช่างละม้ายคล้ายกับนิทานศรีธนญชัยของไทยอย่างมาก อีกทั้งสำนวนภาษาและลีลาของผู้แปลก็ช่วยให้ผู้อ่านนิทานที่เป็นคนไทยสามารถเข้าถึงความขบขันน่าชวนหัวของนิทานกลุ่มนี้ได้มากยิ่งขึ้น

        นิทานกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มนิทานโกหกของบารอน ฟอน มึนชเฮาเซน นิทานโกหกหรือนิทานโม้กลุ่มนี้ มีเนื้อหาชวนขบขันเพราะความเป็นไปไม่ได้ที่ปรากฏในเนื้อเรื่องนิทาน กระนั้น ผู้แปลสามารถถ่ายทอดน้ำเสียงอันมั่นใจและหยิ่งทะนงของผู้เล่านิทานได้อย่างครบถ้วน ทำให้ผู้ที่ได้อ่านนิทานอดไม่ได้ที่จะรู้สึกขบขันเพราะเกิดความหมั่นไส้ผู้เล่านิทานโกหกเหล่านี้

        หนังสือรวมนิทานพื้นบ้านจากต่างแดนที่เข้าถึงและเข้าใจได้โดยไม่รู้สึกถึงระยะทางที่ห่างไกลกันเล่มนี้ ได้รับการเรียบเรียงมาเป็นอย่างดี ทำให้ผู้อ่านสามารถเพลิดเพลินกับนิทานต่างชาติได้อย่างเต็มที่และยังได้เพิ่มเรื่องราวอันควรค่าเข้าคลังนิทานของผู้อ่านอีกด้วย

ผู้ปริทัศน์: เสาวภาคย์ ขันมั่น
นิสิตอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต 
สาขาคติชนวิทยา
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย