ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ : โครงสร้างเนื้อหาและบทบาทในสังคมไทย

ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ : โครงสร้างเนื้อหาและบทบาทในสังคมไทย

อนุชา พิมศักดิ์

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๐

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาและรวบรวมตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ฉบับลายลักษณ์ในประเทศไทย
๒. เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบโครงสร้างและเนื้อหาของตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ฉบับต่าง ๆ
๓. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตำนานพระเจ้าห้าพระองค์กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม

สมมติฐานของการวิจัย
ตำนานเกี่ยวกับพระเจ้าห้าพระองค์เป็นคติความเชื่อในพุทธศาสนาซึ่งมีปรากฏอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย ตำนานเกี่ยวกับพระเจ้าห้าพระองค์ในภาคต่าง ๆ มีโครงสร้างคล้ายกันแต่มีรายละเอียดบางส่วนที่ต่างกัน นอกจากนั้นตำนานเรื่องนี้ยังมีความสัมพันธ์กับความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ศิลปกรรม และการเมืองการปกครองในสังคมไทยด้วย

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมตำนานพระเจ้าห้าพระองค์สำนวนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทยและมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาอนุภาค แบบเรื่อง และโครงสร้างของตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ รวมถึงวิเคราะห์บทบาทของตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ที่มีในสังคมไทย ผู้วิจัยรวบรวมตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ได้ ๓๓ สำนวนจากภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย

ผลการศึกษาพบว่า ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ทั้ง ๓๓ สำนวนสามารถจัดได้เป็น ๓ แบบเรื่อง คือ แบบเรื่องกาเผือก กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระศรีอาริยเมตไตรย ที่มีมารดาคนเดียวกันคือแม่กาเผือก ก่อนที่จะมาจุติเป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัป แบบเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์ กล่าวถึงรายละเอียดประวัติของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์แยกตามพระนาม และแบบเรื่องกาเผือก-พระเจ้าห้าพระองค์ ที่เป็นการนำแบบเรื่องกาเผือกและแบบเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์มากล่าวรวมกัน โดยแบบเรื่องกาเผือกมี ๑๙ สำนวน ส่วนแบบเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์มี ๑๐ สำนวน และมี ๔ สำนวนที่เป็นแบบเรื่องกาเผือก-พระเจ้าห้าพระองค์ ในระดับอนุภาค พบว่าในตำนานแต่ละสำนวนมีรายละเอียดในอนุภาคที่แตกต่างกัน ซึ่งมีสาเหตุมากจากการถ่ายทอดแบบมุขปาฐะ การคัดลอก และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ส่วนในระดับโครงสร้างพบว่าตำนานพระเจ้าห้าพระองค์มีการเรียงลำดับพฤติกรรมบนโครงสร้างหลักเดียวกันตามแต่ละแบบเรื่อง

บทบาทของตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ในสังคมไทยพบว่ามี ๔ ด้านใหญ่ ๆ คือ บทบาททางด้านประเพณีพิธีกรรม คือใช้ในการอธิบายที่มาของ ประเพณียี่เป็ง ประเพณีลอยกระทง ประเพณีไหลเรือไฟ ประเพณีไต้ประทีป และประเพณีทานตุง, บทบาททางด้านไสยศาสตร์ มีการใช้คาถาพระเจ้าห้าพระองค์เป็นคาถาสำคัญในการปลุกเสกและผูกเป็นคาถาอื่น ๆ หรือยันต์ต่าง ๆ รวมถึงมีอิทธิพลต่อการสร้างเครื่องรางของขลัง ทั้งพระเครื่อง ตะกรุด, บทบาททางด้านศิลปกรรมซึ่งพบว่าทั้งจิตรกรรมฝาผนัง พระพุทธรูป และสถาปัตยกรรมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมีคติการสร้างเกี่ยวเนื่องกับตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ และบทบาทด้านการเมืองการปกครองในอดีตมีการอ้างตัวเป็นพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ

Download PDF

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/51220