

มหากาพย์เรื่องท้าวบาเจือง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์
ประคอง นิมมานเหมินท์
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๓๐
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาความเหมือนคล้ายและความแตกต่างในเรื่องราวของพญาเจืองในมหากาพย์เรื่องนี้กับวรรณกรรมอื่น ๆ
๒. เพื่อศึกษาผลกระทบของสังคมและวัฒนธรรมล้านช้างในสมัยอยุธยาตอนต้นต่อวรรณคดีเรื่องนี้
๓. เพื่อศึกษาลักษณะคำประพันธ์ คุณค่าทางวรรณศิลป์ ตลอดจนความสัมพันธ์ของวรรณคดีอยุธยาและวรรณคดีล้านนากับวรรณคดีเรื่องนี้
สมมติฐานของการวิจัย
๑. มหากาพย์เรื่องท้าวบาเจือง และวรรณกรรมเกี่ยวกับพญาเจืองสำนวนอื่นมีเค้าโครงเรื่องตรงกัน แต่ต่างกันในรายละเอียด
๒. สังคมและวัฒนธรรมล้านช้างในสมัยอยุธยาตอนต้นมีผลกระทบต่อวรรณคดีเรื่องนี้
๓. คำประพันธ์ที่ใช้มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมทางวรรณคดีระหว่างอยุธยาและล้านช้าง ในสมัยอยุธยาตอนต้น
๔. มหากาพย์เรื่องนี้มีลักษณะดีเด่นทางวรรณศิลป์
บทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษามหากาพย์เรื่องท้าวบาเจือง อยู่ ๒ ประการ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบเรื่องราวของพญาเจืองในวรรณคดีเรื่องนี้กับวรรณคดีเกี่ยวกับพญาเจืองสำนวนอื่น และเพื่อวิเคราะห์เนื้อหา ลักษณะทางฉันทลักษณ์และการใช้ถ้อยคำสำนวน ผลการศึกษามีดังนี้
เรื่องพญาเจืองในวรรณคดีเรื่องนี้ มีความคล้ายคลึงกับวรรณกรรมเกี่ยวกับพญาเจืองสำนวนอื่นในประเด็นสำคัญ คือ พญาเจืองรบชนะพวกแกว ได้เป็นกษัตริย์เมืองเงินยาง และสิ้นพระชนม์ในการรบที่ยูนนาน วรรณคดีเรื่องนี้ประกอบด้วยส่วนที่เป็นบทประพันธ์ดั้งเดิมซึ่งน่าจะแต่งขึ้นประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึง พุทธศตวรรษที่ ๒๑ และส่วนที่เป็นบทประพันธ์แทรกเสริมซึ่งมีอยู่ ๒ ตอน และไม่สู้ไพเราะนัก
ส่วนที่เป็นบทประพันธ์ดั้งเดิมสะท้อนให้เห็นสังคมล้านช้างในสมัยผู้แต่ง มีลักษณะเป็นสังคมกสิกรรม มีกษัตริย์ ราชวงศ์และขุนนาง เป็นชนชั้นปกครอง ไพร่และทาสเป็นชนชั้นที่ถูกปกครอง แม้ว่าจะรับแนวคิดบางประการจากพุทธศาสนา แต่ความเชื่อในเทพผู้สร้างและวิญญาณบรรพบุรุษยังมีอิทธิพลอยู่มาก
คำประพันธ์ที่ใช้ คือ โคลงดั้น โคลงสี่สุภาพ และโคลงกลบท ถ้อยคำภาษาส่วนใหญ่เป็นภาษาลาว มีภาษาบาลีสันสกฤตและภาษาเขมรบ้าง วรรณคดีเรื่องนี้มีความยิ่งใหญ่ในด้านเนื้อหา และดีเด่นในด้านวรรณศิลป์ ถือได้ว่าเป็นวรรณคดีที่สำคัญยิ่งในภูมิภาคนี้
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/72417
ปัจจุบันเป็นราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม
ประเภทวิชาวรรณศิลป์
สาขาวิชาวรรณกรรมพื้นเมือง