การศึกษาเปรียบเทียบเรื่องศรีธนญชัยฉบับต่าง ๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

การศึกษาเปรียบเทียบเรื่องศรีธนญชัยฉบับต่าง ๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๒๑

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาเรื่องศรีธนญชัยสำนวนต่าง ๆ ที่มีปรากฏในประเทศไทย และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่เป็นร้อยแก้ว และร้อยกรองว่ามีความสัมพันธ์กันในด้านเนื้อหา โครงเรื่อง ตัวละคร ตลอดจนแนวความคิดของผู้แต่งนิทานศรีธนญชัยอย่างไร
ผู้วิจัยได้ศึกษานิทานศรีธนญชัยของไทยที่พบทั้งสิ้น ๑๗ สำนวน สำนวนที่เป็นลายลักษณ์ มี ๑๖ สำนวน สำนวนมุขปาฐะ มีเพียง ๑ สำนวน สำนวนที่เป็นลายลักษณ์นั้นมีทั้งฉบับที่เป็นใบลาน สมุดไทย และฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งประกอบด้วยคำประพันธ์ประเภท กาพย์ กลอน และร้อยแก้ว
นิทานเรื่องศรีธนญชัยนี้พบว่า มีแพร่กระจายอยู่ในทุกภาคในประเทศไทย นอกจากนั้นยังพบว่ามีปรากฏในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
สำนวนของประเทศกัมพูชา เวียดนาม ลาว และไทย มีความยาวและมีความคล้ายคลึงกันในด้านเนื้อหามาก ส่วนของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ พบว่า มีที่เหมือนกับของไทยไม่มากตอนนัก สำหรับบุคลิกภาพของศรีธนญชัยนั้นเป็นลักษณะที่เข้าแบบตัวเอกเจ้าปัญญาและฉลาดแกมโกง (Trickster) ผู้วิจัยเห็นว่าแนวคิดเรื่องความขัดแย้งที่ปรากฏในพฤติกรรมของตัวเอกนี้ ผู้แต่งมีจุดประสงค์เพื่อสร้างปมแห่งการขัดแย้งให้พิสดารขึ้นในเรื่องเท่านั้น ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องสะท้อนความขัดแย้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือศีลธรรมของสังคม

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/18370

ภาพเปิดเรื่อง : ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเซียงเมี่ยง ตอนแข่งดำน้ำสานตะกร้า ในพระวิหารวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

ขอบคุณภาพ รศ.กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ จากแฟนเพจเฟซบุ๊กคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร