ผลงานชุดคติชนวิทยา ลำดับที่ ๑๔

อิงอดีตสนองปัจจุบัน

ศิราพร ณ ถลาง และปรมินท์ จารุวร, (บรรณาธิการ). อิงอดีต สนองปัจจุบัน : คติชนสร้างสรรค์สังคมร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๖๐. (๒๕๓ หน้า)

        อิงอดีต สนองปัจจุบัน เป็นหนังสือในชุดโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เรื่อง “คติชนสร้างสรรค์”: พลวัตและการนำคติชนไปใช้ในสังคมไทยร่วมสมัย” ประกอบด้วยบทความวิจัยของนิสิตระดับดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต ของภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  บทความวิจัยเหล่านี้นับเป็นก้าวสำคัญของวงการคติชนวิทยาในประเทศไทยเพราะมีการนำทฤษฎี “คติชนสร้างสรรค์”  อันเป็น “ทฤษฎีใหม่” มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาข้อมูลคติชนต่าง ๆ เช่น เรื่องเล่า การแสดง ประเพณี และพิธีกรรม เป็นต้น

        เนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็น ๗ บท  เริ่มด้วย บทนำ: “คติชนสร้างสรรค์” อิงอดีต สนองปัจจุบัน…อย่างไร ของ ศิราพร ณ ถลาง บทนี้เป็นการสังเคราะห์ให้เห็นภาพรวมของบทความวิจัยทั้ง ๖ บทที่มีการนำข้อมูลคติชนในพื้นที่ต่าง ๆ  มาศึกษาวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎี “คติชนสร้างสรรค์” ศิราพรชี้ให้เห็นว่าข้อมูลวิจัยมีลักษณะการสร้างสรรค์ด้วยการ “อิงอดีต” ซึ่งถือเป็นวิธีคิดในการสร้างสรรค์คติชนโดยอิงจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมเพื่อ “สนองปัจจุบัน” รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์พลวัตทางวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยทางสังคมในด้านใดบ้าง  

        บทที่ ๒ “จามเทวีบูชา” ในสังคมไทยร่วมสมัย: วิธีคิดแบบ “คติชนสร้างสรรค์” ของ วริศรา  อนันตโท  มีความน่าสนใจเพราะแสดงให้เห็นวิธีคิดในการนำตำนานพระนางจามเทวีมาประกอบการสร้างพิธีบวงสรวงในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดลำพูน จังหวัดแพร่ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลพบุรี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสนองต่อการสร้างอัตลักษณ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด ทำให้เห็นว่าคติชนมีบทบาทหน้าที่ตอบสนองความต้องการของสังคมโดยการใช้ “ทุนทางวัฒนธรรม” ที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะการนำคติชนประเภทตำนานมาผลิตซ้ำ ปรับประยุกต์ และสร้างใหม่ นอกจากนี้ยังถือเป็นการสร้างความหมายใหม่ให้กับ “จามเทวีบูชา” อีกด้วย

        บทที่ ๓ งานประเพณีบวงสรวงพระพรหมประจำปีและบุญกุ้มข้าวใหญ่ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด: “ประเพณีสร้างสรรค์” ในบริบทร่วมสมัย ของ อภิวัฒน์ สุธรรมดี ทำให้เห็นถึงการสร้างสรรค์ประเพณีขึ้นใหม่ซึ่งเกิดจากปัจจัยทางสังคมในปัจจุบัน งานนี้สะท้อนให้เห็นถึงประเพณีที่เป็นปรากฏการณ์ “คติชนสร้างสรรค์”  ที่มีรูปแบบใหม่ ๆ และวัตถุประสงค์ใหม่ ๆ ในการสร้าง มีวิธีคิดในการสร้างสรรค์พิธีกรรมอย่างหลากหลาย เช่น การผูกโยงพิธีกรรมกับตัวละคร “พระพรหม” ในตำนานนางสงกรานต์ การผสมผสานพิธีกรรมใหม่กับพิธีกรรมดั้งเดิม เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันความเชื่อพระพรหมมีพลวัตทั้งในด้านของการจัดพิธีกรรมและการประกอบสร้างความเชื่อว่าพระพรหมเป็นหลักบ้านหลักเมืองของอำเภอจตุรพักตรพิมาน

        บทที่ ๔ ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งในฐานะ “ประเพณีสร้างสรรค์” ในสังคมไทยร่วมสมัย ของ กรีธากร สังขกูล เป็นการศึกษาประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งของจังหวัดบุรีรัมย์ที่มีการปรับเปลี่ยนจากประเพณีราษฎร์มาเป็นประเพณีรัฐเนื่องจากบริบทการท่องเที่ยว ทำให้เห็นวิธีคิดในการ “สร้างใหม่” ด้วยการสร้างประเพณีใหม่ซ้อนลงไปในประเพณีเลิงพนมของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นที่การนำหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาสร้างจุดขายว่าเป็นของแท้ดั้งเดิม เช่น การสร้างขบวนแห่พระนางปูตินทรลักษณมีเทวีและการแสดงประกอบแสงสีเสียงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของปราสาทพนมรุ้งอย่างยิ่งใหญ่ พิธีกรรมเหล่านี้ผู้จัดงานประกอบสร้างให้มีลักษณะประเพณีความเป็นเขมรโบราณและการบวงสรวงแบบพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวแต่สามารถ “ขายได้” เนื่องจากมีการเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นมงคล

          บทที่ ๕ “คติชนสร้างสรรค์” เกี่ยวกับ “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” ในอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ของ ชุตินันท์ มาลาธรรม แสดงให้เห็นการนับถือ “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” ที่ทั้งสองชุมชนมีตำนานความเชื่อร่วมกัน และทำให้เห็นถึงการนำทุนทางวัฒนธรรมมาปรับใช้เพื่อให้เข้าบริบทแวดล้อม  โดยที่ชาวนครพนมนำมาปรับใช้เพื่อบริบทการท่องเที่ยวและเชื่อมสัมพันธ์ของกลุ่มชน ส่วนชาวบ้านหัวถนน อำเภอพนัสนิคมใช้เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของชุมชน นอกจากนี้ยังมีการสร้างวัตถุมงคลพระพุทธรูปไม้ติ้วซึ่งสะท้อนการบริหารจัดการความศรัทธาของชาวบ้านอย่างสร้างสรรค์ทั้งในการของการสืบสานตำนานความเชื่อและการแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชนที่ศรัทธาสิ่งเดียวกัน

          บทที่ ๖ การสร้างวัตถุมงคลทางดนตรีไทยในสังคมไทยร่วมสมัย ของ  ไอยเรศ บุญฤทธิ์ เป็นบทความที่สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของวัฒนธรรมดนตรีไทยในปัจจุบันที่มีการนำรากเหง้าวิธีคิดเรื่อง “เทพสังคีตาจารย์” และ “ครู” มาถ่ายทอดในเป็นสัญลักษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จนเกิดเป็นวัตถุมงคลทางดนตรีไทยที่สร้างขึ้นในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น เหรียญ ผ้ายันต์ ล็อคเก็ต รูปจำลอง ทำให้เห็นถึง “คติชนคนดนตรี” ที่มีการเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัยเพื่อดำรงความคิดความเชื่อด้านดนตรีผ่านการสร้างวัตถุทางวัฒนธรรม

          บทที่ ๗ “รามเกิน” ในรามเกียรติ์: “คติชนสร้างสรรค์” ในการแสดงโขนสดของคณะประยุทธ ดาวใต้ ของ ชวพันธุ์ เพชรไกร สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของคณะโขนสดเพื่อความอยู่รอดภายใต้การแข่งขันของมหรสพร่วมสมัย โดยการนำประสบการณ์การแสดงโขนสดและความรู้ของครูบุญเหลือ แซ่คู ซึ่งถือเป็นทุนบุคคลและทุนทางวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าด้วยการ “ปรุง” และ “ปรับประยุกต์” เรื่องรามเกียรติ์ให้มีเนื้อหาใหม่ ๆ และการสร้างสรรค์องค์ประกอบต่าง ๆ ในการแสดงจนกลายเป็น “รามเกิน” ที่มีลักษณะ “แฟนตาซี” ทำให้เห็นการสร้างสรรค์สื่อพื้นบ้านในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงชาวบ้านได้อย่างมีสีสันและง่ายต่อการเสพ

          บทความวิจัยข้างต้นทำให้เห็นปรากฏการณ์ “คติชนสร้างสรรค์” ที่มีทั้งประเพณีสร้างสรรค์ การแสดงสร้างสรรค์ และสินค้าวัฒนธรรมต่าง ๆ  การศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรมเหล่านี้พาเราไปเห็นรากเหง้าที่มีมาแต่เดิม นับเป็นการ “อิงอดีต” หรือการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าด้วยการผลิตซ้ำ ปรับประยุกต์ รวมถึงการสร้างใหม่เพื่อ “สนองปัจจุบัน” ในด้านต่าง ๆ เช่น การสนองบริบทสังคมท่องเที่ยว สนองบริบทสังคมทุนนิยม วัตถุนิยม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์  เป็นต้น  อิงอดีต สนองปัจจุบัน จึงเป็นหนังสือที่เหมาะกับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับ “คติชนสร้างสรรค์” และวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ปริทัศน์: พจมาน มูลทรัพย์
นิสิตอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต 
สาขาคติชนวิทยา
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย