เทศกาลสงกรานต์-วันไหลในภาคตะวันออกของไทย: พลวัตและบทบาทของคติชนในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย

Songkran-Wan Lai festival in the eastern region of Thailand

เทศกาลสงกรานต์-วันไหลในภาคตะวันออกของไทย:
พลวัตและบทบาทของคติชนในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย

ชลธิชา นิสัยสัตย์

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๖๔

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. ศึกษาความหลากหลายของคติชนประเภทต่าง ๆ ในเทศกาลสงกรานต์-วันไหลในภาคตะวันออกของไทย
๒. วิเคราะห์วิธีคิดในการประกอบสร้างเทศกาลสงกรานต์-วันไหลในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย
๓. วิเคราะห์พลวัตและบทบาทของคติชนที่นำมาใช้ในเทศกาลดังกล่าว

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มุ่งศึกษาเทศกาลสงกรานต์-วันไหลในฐานะ “คติชนสร้างสรรค์” ที่มีการนำคติชนท้องถิ่นภาคตะวันออกมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างเทศกาลท่องเที่ยวในช่วงวันสงกรานต์ พร้อมทั้งวิเคราะห์พลวัตและบทบาทของคติชนที่นำมาใช้ในเทศกาลดังกล่าว ผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนาม ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๔ ในพื้นที่ที่ปรากฏการนำคติชนมาจัดเป็นการท่องเที่ยว ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดสระแก้ว

ผลการศึกษาพบว่า เทศกาลสงกรานต์-วันไหลเกิดจากการผนวกรวมประเพณีวันไหลเข้ากับประเพณีสงกรานต์เพื่อให้เกิดเทศกาลท่องเที่ยวตามนโยบายของภาครัฐ เทศกาลนี้มีจุดศูนย์กลางเกิดขึ้นที่งานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรีเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ จากนั้นจึงมีการประชาสัมพันธ์งานในท้องถิ่นใกล้เคียงในเวลาต่อมา จนเกิดการรับรู้เรื่องประเพณีวันไหลที่เป็นการทำบุญเนื่องในวันขึ้นปีใหม่หลังวันสงกรานต์ของชุมชนชายทะเลภาคตะวันออก ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐในภาคตะวันออกมีบทบาทสำคัญในการสร้างเทศกาลสงกรานต์-วันไหล วิธีคิดสำคัญที่ใช้ประกอบสร้างเทศกาลมี ๓ ประการ ได้แก่ การนำประเพณีพิธีกรรมและการละเล่นในท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมมาสืบทอด การรื้อฟื้นประเพณีพิธีกรรมและการละเล่นที่สูญหายไปแล้วขึ้นมาจัดใหม่ จากนั้นประยุกต์และสร้างสรรค์ให้มีการแสดงแสง สีเสียงจากตำนานท้องถิ่น การสร้างขบวนแห่สงกรานต์การประกอบพิธีบวงสรวง การประกวดแข่งขัน การสาธิตการละเล่น การจำลองความเชื่อเรื่องเทวดาและผีเป็นการแสดงเหตุการณ์สมมติจนกลายเป็นเทศกาลท่องเที่ยว นอกจากนี้มีวิธีคิดในการผนวกพิธีกรรมในเดือน ๕ ซึ่งแต่เดิมจัดขึ้นหลังสงกรานต์มาจัดรวมกับสงกรานต์เป็นงานเดียว ทำให้เกิดตารางท่องเที่ยวหลังสงกรานต์มีวิธีคิดในการจัดสรรประเพณีให้แต่ละท้องถิ่นนำไปจัดงานเพื่อสร้างอัตลักษณ์การท่องเที่ยว รวมถึงผนวกรวมประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกมาจัดเป็นตารางการท่องเที่ยวโดยนำรูปแบบและวิธีการลำดับวันจัดงานให้ต่อเนื่องกันของวันไหลมาประยุกต์เพื่อกระจายรายได้ให้แก่ท้องถิ่นต่าง ๆ

การนำพิธีกรรมในช่วงสงกรานต์และหลังสงกรานต์มาปรับใช้ในบริบทการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ส่งผลให้พิธีกรรมที่เดิมจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและปัดเป่าเคราะห์ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน รวมถึงมุ่งหวังความอุดมสมบูรณ์ในวิถีเกษตรกรรมมีพลวัตไปเป็นพิธีกรรมกับการแสดงที่เน้นสีสัน ความสวยงามและความบันเทิง ปัจจุบัน เทศกาลสงกรานต์-วันไหลมีบทบาทสำคัญด้านการท่องเที่ยวเพราะทำให้เทศกาลสงกรานต์ในภาคตะวันออกมีจุดขายที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะการเล่นน้ำวันไหล นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนภาคตะวันออก มีส่วนสร้างสำนึกความภูมิใจต่อท้องถิ่น และยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นำคติชนมาแสดงจึงมีบทบาทในการรักษาคติชนประจำถิ่นและถ่ายทอดคติชนสู่คนรุ่นต่อไปด้วย

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่ 
CUIR at Chulalongkorn University: เทศกาลสงกรานต์-วันไหลในภาคตะวันออกของไทย: พลวัตและบทบาทของคติชนในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย

 
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์