คติชนกับการสร้างอัตลักษณ์ทหาร : กรณีศึกษาสถาบันการศึกษาและการฝึกทางทหารกองทัพอากาศไทย

Folklore and the construction of military identity : a case study of military education and training institutions of the Royal Thai Air Force

คติชนกับการสร้างอัตลักษณ์ทหาร : กรณีศึกษาสถาบันการศึกษาและการฝึกทางทหารกองทัพอากาศไทย 

พริมรตา จันทรโชติกุล

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๖๒

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อวิเคราะห์
๑. แนวคิดในการสร้างคติชนทหารอากาศไทย
๒. อัตลักษณ์ของทหารอากาศไทยที่ประกอบสร้างจากคติชนทหารอากาศไทย
๓. บทบาทหน้าที่ของคติชนทหารอากาศไทย

สมมติฐานของการวิจัย
๑. แนวคิดในการสร้างคติชนทหารอากาศไทยมี ๓ แนวคิด ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นทหาร แนวคิดว่าด้วยความเป็นทหารอากาศ และแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับสากล
๒. คติชนทหารอากาศไทยที่ใช้ในการสร้างอัตลักษณ์ของทหารอากาศไทย ได้แก่ ตำนานและเรื่องเล่า ประเพณี พิธีทางทหาร บทเพลง และวิถีปฏิบัติ อัตลักษณ์ทหารอากาศที่ประกอบสร้างขึ้นมีทั้งอัตลักษณ์ที่มีร่วมกับทหารเหล่าอื่นและอัตลักษณ์เฉพาะของทหารอากาศ
๓. คติชนทหารอากาศไทยมีบทบาทในการสร้างอัตลักษณ์ของทหารอากาศไทย สร้างสำนึก ความเป็นทหารอากาศไทย และสร้างความมั่นคงทางใจในการปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัย

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์แนวคิดในการสร้างคติชนทหารอากาศไทย อัตลักษณ์ของทหารอากาศไทยที่ประกอบสร้างจากคติชนทหารอากาศไทย และวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของคติชนทหารอากาศไทยในสถาบันการศึกษาและการฝึกทางทหาร กองทัพอากาศไทย ๓ แห่ง คือ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช โรงเรียนการบิน และหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน โดยเก็บข้อมูลระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๑ ผู้วิจัยได้ประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องอัตลักษณ์และแนวคิดเรื่องบทบาทหน้าที่ของคติชนเป็นแนวคิดหลักในการศึกษา

ผลการศึกษาพบคติชนทหารอากาศไทยจำนวน ๕ ประเภท ได้แก่ ๑) ประเพณีและพิธี ๒) วิถีปฏิบัติ ๓) บทเพลง ๔) เรื่องเล่า และ ๕) ความเชื่อและวัตถุมงคล และจัดกลุ่มตามผู้สร้างคติชนได้ ๒ กลุ่มสำคัญ คือ คติชนสถาบันกองทัพอากาศ และคติชนกลุ่มทหารอากาศ

จากการวิเคราะห์แนวคิดในการสร้างคติชนทหารอากาศไทยพบว่าสถาบันกองทัพอากาศและกลุ่มทหารอากาศมีแนวคิดในการสร้างคติชน ๑๐ แนวคิด คือ ๑) แนวคิดเรื่องความเข้มแข็งอดทนของร่างกายและจิตใจ ๒) แนวคิดเรื่องความกล้าหาญและเสียสละ ๓) แนวคิดเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และความรักชาติ ศาสนา ๔) แนวคิดเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกันและความผูกพัน ๕) แนวคิดเรื่องการมีเกียรติศักดิ์และวินัยทหาร ๖) แนวคิดเรื่องการลำดับชั้นและอาวุโสทางทหาร ๗) แนวคิดเรื่องการรับวัฒนธรรมทหารอากาศสากล ๘) แนวคิดเรื่องการมีศักยภาพสูงและความภาคภูมิใจในความเป็นทหารอากาศ ๙) แนวคิดเรื่องการสร้างขวัญและกำลังใจ และ ๑๐) แนวคิดเรื่องการแหวกกฎ ข้อบังคับ และขนบจารีต ซึ่งเป็นแนวคิดที่พบเฉพาะในการสร้างคติชนกลุ่มทหารอากาศ

การวิเคราะห์อัตลักษณ์ของทหารอากาศไทยที่ประกอบสร้างจากคติชนชนทหารอากาศไทยพบว่ามีด้วยกัน ๕ ประการ คือ ๑) ทหารอากาศผู้เข้มแข็งอดทนและกล้าหาญเสียสละที่ควรแก่การภาคภูมิใจ ๒) ทหารอากาศผู้จงรักภักดีและมีความผูกพันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ๓) ทหารอากาศผู้มีเพื่อนและพี่น้อง ๔) ทหารอากาศผู้ชาญฉลาดและเป็นนักรบปกป้องน่านฟ้าไทย และ ๕) ทหารอากาศผู้มีศักยภาพทัดเทียมทหารอากาศสากล ทั้งนี้ อัตลักษณ์ของผู้เข้มแข็งอดทน อัตลักษณ์ของผู้จงรักภักดีและผูกพันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และอัตลักษณ์ของผู้มีเพื่อนและพี่น้องเป็นอัตลักษณ์ที่ทหารอากาศไทยมีร่วมกับทหารเหล่าทัพอื่น ส่วนอัตลักษณ์ของผู้ชาญฉลาดและเป็นนักรบปกป้องน่านฟ้าไทยเป็นอัตลักษณ์ที่พบเฉพาะกลุ่มทหารอากาศไทย อัตลักษณ์ของผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้ทหารอากาศไทยมีความแตกต่างจากทหารอากาศสากล นอกจากนี้คติชนทหารอากาศไทยมีบทบาทในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันจากการมีความทรงจำร่วมกัน บทบาทในการสร้างความมั่นคงทางใจในช่วงการเปลี่ยนผ่านและการปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัย และบทบาทในการปลดปล่อยความตึงเครียดและเติมเต็มความต้องการทางใจ

การศึกษาคติชนกับการสร้างอัตลักษณ์ของทหารอากาศไทยนอกจากทำให้เห็นการผสมผสานระหว่างความเป็นนักรบไทยและความเป็นทหารในกองทัพสมัยใหม่ ยังทำให้เห็นบทบาทหน้าที่สำคัญของคติชนต่อการสร้างทหารของกองทัพอากาศไทยที่มีลักษณะพึงประสงค์

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/64848

ปัจจุบันเป็นอาจารย์กองการศึกษา โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช

 

*หมายเหตุ: ต้นฉบับภาพปกโดย ร.อ.นภชัย วิทวัสการเวช