คติชนสร้างสรรค์จากความเชื่อเรื่องพญานาคในภาคอีสานตอนบนของประเทศไทย

Creative folklore related to the Naga belief in the upper northeastern region of Thailand
Photchaman_Munsap

คติชนสร้างสรรค์จากความเชื่อเรื่องพญานาคในภาคอีสานตอนบนของประเทศไทย

พจมาน มูลทรัพย์

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๖๔

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. รวบรวมข้อมูลคติชนสร้างสรรค์จากความเชื่อเรื่องพญานาคในภาคอีสานตอนบนของประเทศไทย
๒. วิเคราะห์วิธีคิดในการสร้างสรรค์คติชนจากความเชื่อเรื่องพญานาคในท้องถิ่นดังกล่าว
๓. วิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของข้อมูลคติชนสร้างสรรค์จากความเชื่อเรื่องพญานาคในท้องถิ่นดังกล่าว

 

สมมติฐานของการวิจัย
๑. ปรากฏการณ์บูชาพญานาคในภาคอีสานตอนบนทําให้เกิดการสร้างสรรค์คติชนใหม่หลายอย่าง เช่น เรื่องเล่าอิงตํานานเก่า เรื่องเล่าสมัยใหม่ ประเพณี พิธีกรรม และคติชนที่เป็นวัตถุ คติชนใหม่เหล่านี้แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงความเชื่อเรื่องพญานาคกับการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นและการสืบทอด สร้างสรรค์ และปรับเปลี่ยนคติชนประเพณีให้กลายเป็นวัฒนธรรมประชานิยม
๒. คติชนสร้างสรรค์เกี่ยวกับการบูชาพญานาคมีบทบาทหน้าที่หลายประการ เช่น การสร้างความหมายทางสังคมและอัตลักษณ์ให้แก่ชุมชนอีสานตอนบน การตอบสนองต่อบริบทเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว รวมทั้งการเป็นที่ยึดเหนี่ยวและพึ่งพิงทางใจให้คนในชุมชนและกลุ่มผู้ศรัทธาในสังคมไทยปัจจุบัน

 

บทคัดย่อ
ปรากฏการณ์บูชาพญานาคในภาคอีสานตอนบนทําให้เกิดการสร้างสรรค์คติชนใหม่หลายอย่าง วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลคติชนสร้างสรรค์จากความเชื่อเรื่องพญานาคในภาคอีสานตอนบนของประเทศไทย วิเคราะห์วิธีคิดในการสร้างสรรค์คติชน และวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของข้อมูลคติชนสร้างสรรค์จากความเชื่อเรื่องพญานาคในท้องถิ่นดังกล่าว โดยเก็บข้อมูลระหว่าง ปีพ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๓ ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ได้แก่ จังหวัดอุดรธานีหนองคาย และ
จังหวัดนครพนม ผู้วิจัยใช้แนวคิดเรื่องคติชนสร้างสรรค์ (ศิราพร ณ ถลาง, ๒๕๕๙) เป็นแนวคิดหลักในการศึกษา

ผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบันในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนมีการสร้างสรรค์คติชนที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพญานาคหลายประเภท คติชนเหล่านี้มีลักษณะเป็น “คติชนสร้างสรรค์” และสามารถแบ่งได้ ๓ กลุ่มใหญ่ คือ ๑) เรื่องเล่าพญานาคสมัยใหม่ ๒) ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาพญานาค และ ๓) ประติมากรรม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และคติชนวัตถุเกี่ยวกับพญานาค เรื่องเล่าพญานาคสมัยใหม่ส่วนหนึ่งสืบทอดและสัมพันธ์กับตํานานพญานาคประจําถิ่น ส่วนประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาพญานาคที่สําคัญมี ๕ ประเพณีคือ (๑) บุญบั้งไฟเดือน ๖ และพิธีบวงสรวงใหญ่เจ้าปู่ศรีสุทโธเจ้าย่าศรีปทุมมา จังหวัดอุดรธานี (๒) งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม (๓) เทศกาลออกพรรษาและประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม (๔) เทศกาลออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก อําเภอเมือง จังหวัดหนองคาย และ (๕) เทศกาลออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก อําเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

วิธีคิดในการสร้างสรรค์คติชนที่มาจากความเชื่อเรื่องพญานาคในภาคอีสานตอนบน ได้แก่ การนําทุนวัฒนธรรมในท้องถิ่นโดยเฉพาะตํานานและความเชื่อเรื่อง “พญานาคประจําถิ่น” มาปรับประยุกต์เพื่อนําเสนอคติชนใหม่ การปรับเปลี่ยนประเพณีพิธีกรรมให้ยิ่งใหญ่เป็นงานมหกรรมและเทศกาลเพื่อให้เข้าถึงมวลชนทั้งในท้องถิ่นและนอกท้องถิ่นระดับประเทศ ทั้งนี้เพื่อสนองต่อบริบทสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น บริบทเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บริบทการท่องเที่ยว และบริบทสื่อสมัยใหม่และเทคโนโลยีการสื่อสาร คติชนสร้างสรรค์เหล่านี้แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงความเชื่อเรื่องพญานาคกับการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น และการสืบทอด สร้างสรรค์และปรับเปลี่ยนคติชนประเพณีบางส่วนให้กลายเป็นวัฒนธรรมประชานิยม

บทบาทหน้าที่ของคติชนสร้างสรรค์ที่มาจากความเชื่อเรื่องพญานาคมีหลายประการ เช่น การสร้างความหมายทางสังคมและอัตลักษณ์ให้แก่ชุมชนอีสานตอนบน การสนองต่อบริบทเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว การสร้างความหมายใหม่ให้พญานาค การสร้างวิถีปฏิบัติใหม่ให้การบูชาพญานาค และบทบาทในการเป็นที่ยึดเหนี่ยวและพึ่งพิงทางใจให้คนในชุมชนและกลุ่มผู้ศรัทธา เป็นต้น

ผลการวิจัยในวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ทําให้เห็นการสร้างสรรค์คติชนที่มาจากความเชื่อเรื่องพญานาคในลักษณะ “ใหม่” ที่อิง “ทุนวัฒนธรรม” ในท้องถิ่นและสัมพันธ์กับสื่อสมัยใหม่และวัฒนธรรมประชานิยม และทําให้เห็นพลวัตของคติความเชื่อเรื่องพญานาคที่ธํารงอยู่อย่างเข้มแข็งในชุมชนอีสานตอนบนและได้รับกระแสนิยมจนแพร่หลายข้ามภูมิภาค กระแสนิยมดังกล่าวทําให้การบูชาพญานาคได้รับการขยายขอบเขตจากคติความเชื่อพื้นถิ่นอีสานจนกลายเป็นคติชนของคนหมู่มากในสังคมไทยร่วมสมัย

 

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/79956

 

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม