บทบาททางสังคมของความเชื่อเรื่องผีมอญในตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

บทบาททางสังคมของความเชื่อเรื่องผีมอญในตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

รัตนาวดี สวยบำรุง

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๖๕

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. ศึกษาวิถีปฏิบัติและพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผีมอญของชาวมอญเจ็ดริ้วอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
๒. วิเคราะห์บทบาททางสังคมของความเชื่อเรื่องผีมอญในชุมชนชาวมอญเจ็ดริ้วท่ามกลางบริบทสังคมไทยปัจจุบัน

สมมติฐานของการวิจัย
๑. วิถีปฏิบัติและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีมอญเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความเชื่อเรื่องผีมอญไปยังสมาชิกในชุมชนซึ่งสืบทอดความเชื่อนี้อย่างเหนียวแน่นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในสังคมของชาวมอญเจ็ดริ้ว
๒. ความเชื่อเรื่องผีมอญในตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาครมีบทบาทในการกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมและการถ่ายทอดแนวคิดและระบบคุณค่าเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของชาวมอญเจ็ดริ้ว

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิถีปฏิบัติและพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผีมอญของชาวมอญเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และวิเคราะห์บทบาททางสังคมของความเชื่อเรื่องผีมอญในชุมชนมอญเจ็ดริ้วท่ามกลางบริบทสังคมไทยปัจจุบัน ผู้วิจัยศึกษาและรวบรวมข้อมูลระหว่างปี พ.ศ.๒๕๖๒ – ๒๕๖๕ จากข้อมูลเอกสารและการเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ตำบลเจ็ดริ้ว

ผลการศึกษาพบว่า วิถีปฏิบัติและพิธีกรรมทำให้ผีมอญที่มีลักษณะเป็นความเชื่อนามธรรมกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยการถ่ายทอดมโนทัศน์และความเชื่อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผีมอญกับชาวมอญเจ็ดริ้ว ได้แก่ มโนทัศน์เรื่องผีมอญเป็นผู้อาวุโสในตระกูล มโนทัศน์เรื่องผีมอญเป็นวิญญาณผู้พิทักษ์และมโนทัศน์เรื่องผีมอญเป็นผู้ควบคุมกฎและศีลธรรม ส่งผลให้ชาวมอญเจ็ดริ้วสืบทอดความเชื่อนี้อย่างเหนียวแน่นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในบริบทสังคมไทยปัจจุบัน

ความเชื่อเรื่องผีมอญมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมอันพึงประสงค์ของชาวมอญเจ็ดริ้วระหว่าง ๑) คนในตระกูลผีและ ๒) คนนอกตระกูลผีซึ่งถูกกำหนดให้มีบทบาททางสังคมแตกต่างกันออกไปภายใต้ความเชื่อเรื่องผีมอญ และยังมีบทบาทต่อการตอกย้ำความสัมพันธ์ฉันเครือญาติ ควบคุมความประพฤติของชาวมอญเจ็ดริ้วให้เป็นไปตามแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมที่พึงประสงค์และกำหนดรูปแบบการจัดสรรและการใช้ทรัพยากรของกลุ่มย่อยต่าง ๆ ในชุมชน นอกจากนี้ความเชื่อเรื่องผีมอญก็มีบทบาทต่อการถ่ายทอดแนวคิดและระบบคุณค่าเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ได้แก่ ๑) การเชิดชูความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของคนต่างรุ่น ๒) ความชัดเจนทางสมาชิกภาพและอัตลักษณ์กลุ่ม และ ๓) ความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรไปยังชาวมอญเจ็ดริ้ว บทบาททางสังคมของความเชื่อเรื่องผีมอญที่กล่าวมาข้างต้น ช่วยให้สังคมชาวมอญเจ็ดริ้วดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพจนถึงปัจจุบัน

 

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
CUIR at Chulalongkorn University: บทบาททางสังคมของความเชื่อเรื่องผีมอญในตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

 

ปัจจุบันเป็นครูกระบวนการที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์