ความเชื่อและพิธีกรรมในชุมชนอีสานที่มีภูมินามเกี่ยวข้องกับเรื่องคันธนาม

ความเชื่อและพิธีกรรมในชุมชนอีสานที่มีภูมินามเกี่ยวข้องกับเรื่องคันธนาม

ปฏิวัติ มาพบ

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๖๖

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. ศึกษาและวิเคราะห์เรื่องเล่าที่อธิบายภูมินามในชุมชนอีสานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคันธนาม
๒. วิเคราะห์บทบาทของความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคันธนามในชุมชนอีสานในปัจจุบัน

สมมติฐานของการวิจัย
๑. เรื่องคันธนามเป็นเรื่องราวการเดินทางของตัวละครเอกเพื่อตามหาพ่อ การเดินทางดังกล่าวทำให้มีอนุภาคที่สามารถนำมาเชื่อมโยงภูมิประเทศ สถานที่สำคัญ เรื่องเล่าท้องถิ่น วิถีชีวิต ทั้งยังสัมพันธ์กับความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชุมชนอีสานบางชุมชน นอกจากนี้อนุภาคหรือเหตุการณ์ที่ถูกนำมาใช้เป็นภูมินามยังบ่งบอกถึงความสำคัญทางวัฒนธรรมต่อชุมชนดังกล่าว
๒. ชุมชนอีสานที่ศึกษานำเรื่องคันธนามมาใช้โดยมีบทบาททั้งในการอธิบายและสืบทอดพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์และพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านในรอบปี และในการสร้างสรรค์ประเพณีในบริบทการท่องเที่ยว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลวัตของคติชนในสังคมไทยร่วมสมัยที่ได้รับผลจากนโยบายของรัฐและกระแสโลกาภิวัตน์

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มุ่งศึกษาและวิเคราะห์เรื่องเล่าที่อธิบายภูมินามในชุมชนอีสานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคันธนาม และวิเคราะห์บทบาทของความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวในชุมชนอีสานในปัจจุบัน ผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๓ – พ.ศ. ๒๕๖๖ ในบางชุมชนอีสานที่มีความเชื่อและพิธีกรรม เกี่ยวข้องกับเรื่องคันธนาม ได้แก่ บ้านขุมคำ อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี บ้านด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ บ้านกู่คันธนาม อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด

ผลการศึกษาพบว่า เรื่องคันธนามเป็นวรรณคดีท้องถิ่นอีสานที่มีเนื้อเรื่องขนาดยาว ประกอบไปด้วยเหตุการณ์หลัก ๑๐ ตอน แต่ละตอนสะท้อนความคิดสำคัญของเรื่องคือความกตัญญูจากการตามหาพ่อของตัวละครเอก การศึกษา อนุภาคพบว่ากลุ่มอนุภาคตัวละคร กลุ่มอนุภาคของวิเศษ และกลุ่มอนุภาคเหตุการณ์ ต่างก็มีความสำคัญต่อการดำเนินเรื่อง สะท้อนความหมายทางวัฒนธรรม และมีความสำคัญต่อการจดจำเรื่องเล่า โดยเฉพาะเรื่องเล่าที่ไปสัมพันธ์กับภูมินาม ในภาคอีสาน ในการวิเคราะห์เรื่องคันธนามที่ใช้อธิบายภูมินามในชุมชนอีสาน พบว่าทั้ง ๔ ชุมชนอีสานรับรู้เรื่องราว ในลักษณะชาดกพื้นบ้านและตำนานสถานที่ และนำเรื่องดังกล่าวไปเชื่อมโยงกับสภาพภูมิประเทศ สถานที่สำคัญ เรื่องเล่าท้องถิ่น และวิถีชีวิต ในเหตุการณ์และอนุภาคที่ต่างกัน สะท้อนให้เห็นความสำคัญทางวัฒนธรรมของ เรื่องคันธนามที่มีต่อชุมชนอีสานได้เป็นอย่างดี

การศึกษาความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคันธนามพบว่า ทั้ง ๔ ชุมชนมีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือ ตัวละครศักดิ์สิทธิ์เชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญของชุมชน และเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ทั้งหมด ๔ ประเพณีพิธีกรรม ได้แก่ ประเพณีบวงสรวงพระธาตุสีดา บุญสรงกู่บูชาท้าวคันธนาม บุญชาวเมือง และบุญเบิกบ้านบวงสรวงเจ้าปู่คัทธนาม ประเพณีเหล่านี้นำเรื่องคันธนามไปใช้เป็นรูปเคารพ เครื่องประกอบพิธีกรรม และบทอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การนำเรื่องคันธนามไปใช้ประกอบพิธีกรรมสะท้อนวิธีคิดในการสืบทอดความเชื่อเกี่ยวกับ ตัวละครที่มีอยู่แต่เดิมในชุมชน และวิธีคิดในการเลือกบทบาทของตัวละครที่มีในเรื่องมาสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม ทำให้ตัวละครมีลักษณะเป็นผีอารักษ์ที่ผนวกกับผีวีรบุรุษ การนำไปใช้ดังกล่าวยังมีบทบาทในการอธิบายและสืบทอด พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านในรอบปีและพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านฤดูกาล และพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการสร้างกิจกรรมในบริบทการท่องเที่ยวซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ บทบาทในการเป็นที่พึ่งทางกายและทางใจแก่คน ในชุมชน บทบาทในการแสดงความสัมพันธ์ของกลุ่มคนระหว่างชุมชน และบทบาทในการสะท้อนปัญหาความขัดแย้ง ทางความคิดในชุมชน การศึกษาเรื่องเล่าอธิบายภูมินาม ความเชื่อ และพิธีกรรมดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นถึงพลวัต ของเรื่องคันธนามในชุมชนอีสานในปัจจุบัน

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
CUIR at Chulalongkorn University: BELIEFS AND RITUALS IN ISAN COMMUNITIES WITH PLACE NAMES RELATED TO KHANTHANAM FOLKTALES