
อำภา โอตระกูล, แปลและเรียบเรียง. มหากาพย์นิเบิลลุงเงิน นิยายอัศวินจากลุ่มแม่น้ำไรน์ ภาคหนึ่ง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๖๓.
มหากาพย์นิเบิลลุงเงิน (Das Nibelungenlied) มีที่มาจากตำนานอัศวินในยุคกลางของยุโรป ตำนานเรื่องเล่าเหล่านี้เป็นนิทานที่เล่าและรับรู้กันกระจายไปทั่วกลุ่มคนที่พูดภาษาเยอรมัน แม้ว่าชื่อของมหากาพย์เรื่องนี้จะแปลกหูสำหรับคนไทย แต่เป็นมหากาพย์ที่มีอิทธิพลกับกวีและศิลปินฝั่งยุโรปอย่างมาก เช่น ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) นักแต่งเพลงชื่อดังก็ได้แรงบันดาลใจจากมหากาพย์นิเบิลลุงเงินในการสร้างสรรค์บทโอเปร่าชุด Der Ring des Nibelungen
วรรณกรรมประเภทมหากาพย์อาจไม่ใช่ประเภทงานที่คนไทยคุ้นเคยมากนัก แต่หากยกตัวอย่างมหากาพย์ที่สำคัญของฝั่งโลกตะวันตกอย่าง มหากาพย์อีเลียดและโอดิสซี ก็คงจะพอทำให้มองเห็นภาพของวรรณกรรมประเภท มหากาพย์ชัดเจนขึ้นบ้าง สำหรับมหากาพย์นิเบิลลุงเงิน หากจะเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งกว่า คงจะเทียบได้เป็น นิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ของฝรั่ง เพราะเป็นเรื่องของเหล่าอัศวินและเจ้าหญิงเจ้าชาย การดูหมิ่นและกู้คืนเกียรติยศแห่งอัศวิน ความรักและการทรยศ การเกิดและการตาย ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของมหากาพย์นิเบิลลุงเงิน ที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูล เรียกว่านิยายอัศวินแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์นั่นเอง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูล อธิบายไว้ว่าต้นฉบับภาษาเยอรมันเขียนเป็นบทกวีสมัยกลางบทละ 4 บรรทัด นำมาแปลเป็นภาษาไทยในรูปกลอนอิสระ มีสัมผัส มีจังหวะ ไม่ใช้ฉันทลักษณ์ที่ตายตัว ท่านแปลและเรียบเรียงโดยมุ่งให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายและครบความตามต้นฉบับ ถึงแม้ชื่อตัวละครและชื่อเมืองที่ปรากฏในมหากาพย์เรื่องนี้จะแปลกตาสำหรับผู้อ่านชาวไทยไปบ้าง แต่เนื้อเรื่องที่เข้มข้นและการฟาดฟันกันของตัวละคร ทั้งในการประลองยุทธ์และในการประลองไหวพริบ จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกตื่นเต้นและอยากติดตามเรื่องราวมากเสียจนลืมความแปลกตาของชื่อที่เป็นภาษาต่างประเทศเหล่านั้นไปสิ้น
หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหาสองส่วน ส่วนแรกคือเนื้อหาหลัก นั่นคือเรื่องราวของมหากาพย์นิเบิลลุงเงิน ภาคหนึ่ง ด้วยความที่วรรณกรรมประเภทมหากาพย์มักจะเป็นเรื่องขนาดยาว มหากาพย์เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เพื่อการแปลที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูลจึงแบ่งเนื้อหาแปลออกเป็นสองเล่ม เนื้อหาส่วนแรกนี้จึงเป็นเนื้อหาส่วนที่หนึ่ง ตั้งแต่ต้นเรื่องไปจนถึงความตายของอัศวินคนสำคัญที่เป็นผู้โยงใยเหตุการณ์ต่าง ๆ ในส่วนเนื้อหาครึ่งแรกนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้แปลก็ไม่ทิ้งให้ผู้อ่านต้องกระวนกระวายใคร่รู้กับเนื้อหาส่วนหลัง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูลได้สรุปเล่าเนื้อหาส่วนที่สองแบ่งเป็นบท ๆ แนบมาด้วยกันในหนังสือเล่มนี้ครบถ้วน สำหรับเนื้อหาส่วนที่สองนี้ คนรักของอัศวินที่ต้องตายเพราะการทรยศ ได้ลุกขึ้นมาล้างแค้นของตนอย่างสาสม
มหากาพย์นิเบิลลุงเงิน ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล่าเพื่ออรรถรส แต่ยังมีคุณูปการต่อการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมและคีตศิลป์ในสมัยต่อมา ในปี ๒๕๕๒ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องต้นฉบับลายมือมหากาพย์นิเบิลลุงเงินเป็นมรดกทางเอกสารของโลก (UNESCO World Documentary Heritage) ผู้ที่สนใจวรรณกรรมท้องถิ่น นิทานพื้นบ้าน และวรรณกรรมต่างประเทศ จึงควรได้อ่านผลงานการแปลและเรียบเรียงของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูล เล่มนี้ เพื่อจะทำให้รู้จักมหากาพย์ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของโลกเพิ่มขึ้น
ผู้ปริทัศน์: เสาวภาคย์ ขันมั่น
นิสิตอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
สาขาคติชนวิทยา
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย