พลวัตและบทบาทของคติชนและวิถีชนของผู้เลี้ยงควายในจังหวัดชลบุรี

พลวัตและบทบาทของคติชนและวิถีชนของผู้เลี้ยงควายในจังหวัดชลบุรี

ชุตินันท์ มาลาธรรม

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๖๗

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อรวบรวมคติชนและวิถีชนของผู้เลี้ยงควายในจังหวัดชลบุรี
๒. เพื่อวิเคราะห์พลวัตของคติชนและวิถีชนของผู้เลี้ยงควายในจังหวัดชลบุรี
๓. เพื่อศึกษาบทบาทของคติชนและวิถีชนของผู้เลี้ยงควายในจังหวัดชลบุรี

สมมติฐานของการวิจัย
๑. จังหวัดชลบุรีมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงควายในระบบเกษตรแบบดั้งเดิมและมีประเพณีสำคัญคือประเพณีวิ่งควาย วิถีชนของผู้เลี้ยงควายในจังหวัดชลบุรีมีพลวัตเนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม ตลอดจนการท่องเที่ยวและโลกาภิวัตน์ วิถีชนที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวปรากฏให้เห็นในคติชนที่เกี่ยวกับการเลี้ยงควาย เช่น เรื่องเล่า ความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรม คติชนประเภทวัตถุ
๒. คติชนและวิถีชนของผู้เลี้ยงควายในจังหวัดชลบุรีมีบทบาทสำคัญในการสร้างและนำเสนออัตลักษณ์ของผู้เลี้ยงควาย ครอบครัวและกลุ่มเครือญาติ ในฐานะผู้สืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ตกทอดมาจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อัตลักษณ์ของชุมชนในฐานะพื้นที่ที่มีการเลี้ยงควายและการจัดประเพณีวิ่งควายในรูปแบบต่าง ๆ และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัดชลบุรีในฐานะพื้นที่ที่มีการสืบทอดและสร้างสรรค์ประเพณีดั้งเดิมในสังคมสมัยใหม่

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งรวบรวมคติชนและวิถีชนของผู้เลี้ยงควายในจังหวัดชลบุรี แล้วนำมาวิเคราะห์พลวัตและบทบาทด้วยมุมมองคติชนวิทยา (folkloristics) และวิถีชนศึกษา (folklife studies) ผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามระหว่าง พ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๖ ในชุมชนที่มีการจัดประเพณีวิ่งควายในจังหวัดชลบุรี ๒๔ แห่ง ได้แก่ อำเภอเมืองชลบุรี บ้านบึง บ่อทอง หนองใหญ่ พานทอง พนัสนิคม เกาะจันทร์ ศรีราชา และบางละมุง ในจังหวัดระยอง ๒ แห่ง และจังหวัดฉะเชิงเทรา ๑ แห่ง

ผลการศึกษาพบว่า เดิมผู้เลี้ยงควายในจังหวัดชลบุรีเลี้ยงควายเป็นแรงงานในการเกษตร เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ผู้เลี้ยงควายสามารถปรับใช้คติชนและวิถีชนเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงควายที่มีหลากหลายมากขึ้น ทั้งเพื่อขาย เพื่อประกวดควายงาม เพื่อวิ่งแข่งขัน และเพื่อร่วมประเพณี ผู้เลี้ยงปรับใช้ความรู้ความเชื่อเพื่อคัดเลือกควายที่ดี มีเคล็ดลับ การเลือกอาหาร การปรับใช้คติชนวัตถุ ทำให้ปัจจุบันควายมีรูปร่างลักษณะต่างกันมาก ควายงามมีลักษณะที่ดีตามเกณฑ์ของกรมปศุสัตว์ ทำให้ควายทั่วประเทศมีลักษณะคล้ายกัน ส่วนควายวิ่งมีลักษณะสูง ขายาวเรียวรัด ปราดเปรียวเพื่อให้วิ่งแข่งได้ จึงสามารถคงลักษณะเฉพาะของควายในชลบุรีไว้ได้

จังหวัดชลบุรีมีการจัดประเพณีวิ่งควายในหลายชุมชน ต่อเนื่องตลอดทั้งปี มีทั้งประเพณีวิ่งควายในช่วงเทศกาลออกพรรษาที่จัดในชุมชนตลาดต่าง ๆ สัมพันธ์กับความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีวิ่งควาย และประเพณีวิ่งควายนอกช่วงเทศกาลออกพรรษาที่จัดในพื้นที่ว่างเพื่อคัดเลือกควายและเพื่อความสนุกสนานเป็นสำคัญ ทั้งยังมีรูปแบบการใช้ควายแบบ “วิ่งควายบก” ที่มีคนนั่งบนตัวควาย และ “วิ่งควายคราดนา” ที่คนใช้ควายคู่เทียมคราดวิ่งแข่งในพื้นที่มีน้ำขังเลียนแบบการใช้ควายคราดนาเพื่อเตรียมทำนาข้าวด้วย ผู้เลี้ยงจึงต้องมีความรู้ในการฝึกฝนและดูแลควายอย่างดีต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงจะมีควายที่ดีสำหรับนำไปร่วมประเพณีวิ่งควาย

ประเพณีวิ่งควายมีบทบาทหน้าที่สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน ให้การศึกษาและรักษามาตรฐานพฤติกรรมของสังคม สร้างปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มชนและเป็นเครื่องมือในการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจ สร้างและนำเสนออัตลักษณ์ทั้งอัตลักษณ์ของผู้เลี้ยงควาย ชุมชน และจังหวัด สร้างความทรงจำร่วมของกลุ่มชน และเป็นทุนทางวัฒนธรรมในบริบทเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งนี้บทบาทหน้าที่ดังกล่าวล้วนมีพลวัตไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม โลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะบทบาทอย่างยิ่งการเป็นทุนวัฒนธรรมเป็นบทบาทใหม่จากนโยบายส่งเสริมการใช้ทุนวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว

คติชนและวิถีชนของผู้เลี้ยงควายในจังหวัดชลบุรีมีพลวัตของเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเพณีวิ่งควาย พลวัตของความเชื่อในการคัดเลือกควาย พลวัตของคติชนประเภทวัตถุที่ใช้ในวิถีการเลี้ยงควาย และพลวัตของประเพณีพิธีกรรม พลวัตของดังกล่าวสัมพันธ์กับปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจและสังคม สภาพแวดล้อมและการใช้พื้นที่ ความสัมพันธ์ของผู้คนและการเมืองท้องถิ่น ความเชื่อและทัศนะที่มีต่อควาย รวมถึงกระแสการส่งเสริมการท่องเที่ยวและโลกาภิวัตน์

การใช้มุมมองการศึกษาทั้งคติชนวิทยาและวิถีชนศึกษาในวิทยานิพนธ์นี้จึงช่วยขยายขอบเขตการศึกษาความรู้ของผู้เลี้ยงควายให้กว้างและลึกมากขึ้น ทั้งยังเห็นมิติอื่น ๆ ในชีวิตของผู้เลี้ยงควายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางในการศึกษาคติชนเกี่ยวกับสัตว์ (animal lore) อื่น ๆ รวมถึงความรู้ในวิถีชีวิตของคนกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
Chula DigiVerse: Digital Preservation of Chulalongkorn University

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *