ผลงานชุดคติชนวิทยา ลำดับที่ ๖

ศิราพร ณ ถลาง. ทฤษฎีคติชนวิทยา: วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๗. (๔๙๓ หน้า)

        ทฤษฎีคติชนวิทยา: วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน เป็นตำราของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๘ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนรายวิชาทฤษฎีคติชนวิทยาโดยตรง เนื่องจากในขณะนั้นตำราที่ใช้ในวงการคติชนวิทยาในประเทศไทยส่วนใหญ่เน้นแนะนำให้รู้จักข้อมูลคติชนประเภทต่าง ๆ จึงขาดตำราที่เน้นทฤษฎี วิธีวิทยา และแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูลทางคติชน

        ผู้เขียนเรียบเรียงตำราเล่มนี้จากการประมวลทฤษฎีคติชนวิทยาและวิธีวิทยาต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ข้อมูลทางคติชน โดยเฉพาะข้อมูลประเภทเรื่องเล่าพื้นบ้าน (folk narrative) ได้แก่ ตำนานปรัมปรา (myth) นิทานมหัศจรรย์ (fairytale) นิทานประจำถิ่น (legend) เป็นต้น ดังนั้น ทฤษฎีคติชนวิทยาที่กล่าวถึงในตำราเล่มนี้จึงเป็นทฤษฎีที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลนิทานพื้นบ้าน (folktale) เป็นหลัก เพราะข้อมูลประเภทนิทานพื้นบ้านและตำนานปรัมปราเป็นเรื่องเล่าที่ใช้ภาษาพิเศษที่ต้องอาศัยแนวคิดทฤษฎีในการตีความเพื่อทำความเข้าใจความหมายของเรื่อง

        เนื้อหาของตำราแบ่งออกเป็น ๗ บท ในการนำเสนอ ผู้เขียนได้อธิบายให้เข้าใจความคิดหลักของทฤษฎีก่อนเป็นเบื้องต้น จากนั้นได้ยกตัวอย่างงานวิจัยทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยที่ได้นำทฤษฎีนั้น ๆ มาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์

        บทที่ ๑ กล่าวถึง พัฒนาการการศึกษาคติชนวิทยาในประเทศตะวันตกและในประเทศไทย ทำให้เห็นแนวโน้มความสนใจของนักคติชนทั้งในฝั่งตะวันตกและในไทย รวมถึงการทำงานของนักวิชาการรุ่นบุกเบิกที่ได้ใช้วิธีการทางคติชนวิทยามารวบรวมข้อมูลคติชนประเภทต่าง ๆ จนกระทั่งเกิดวิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจจำนวนมาก

        บทที่ ๒ ว่าด้วย อนุภาคและแบบเรื่อง ซึ่งเป็นหน่วยความคิดพื้นฐานที่สำคัญในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์และวัฒนธรรมของมนุษย์ ผู้เขียนได้นำเสนอแนวทางการศึกษาอนุภาคนิทาน (motif) และแบบเรื่องนิทานพื้นบ้าน (tale type) ที่ให้ผลการศึกษาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างอนุภาคนิทานกับความคิดเชิงวัฒนธรรม และการใช้แบบเรื่องนิทานเพื่อบอกความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่าง ๆ

        บทที่ ๓ กล่าวถึง ทฤษฎีการแพร่กระจายและการแตกเรื่องของนิทาน ทฤษฎีนี้สนใจการดำรงอยู่ของนิทานในสังคมหนึ่ง ๆ ประเด็นสำคัญของทฤษฎีคือการแสดงให้เห็นว่านิทานจะถูกปรับรายละเอียดให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นเมื่อ “เดินทาง” ออกไปยังดินแดนต่างวัฒนธรรม กลายเป็น “สำนวนท้องถิ่น” ของถิ่นนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงศึกษาโลกทัศน์ วัฒนธรรมท้องถิ่น และรสนิยมของคนในแต่ละวัฒนธรรมได้จากนิทาน

        บทที่ ๔ นำเสนอ ทฤษฎีโครงสร้างนิทาน (Morphology of the Folktale) ของวลาดิมีร์ พรอพพ์ (Vladimir Propp) ทฤษฎีนี้ชี้ให้เห็นว่านิทานในแต่ละวัฒนธรรมมีโครงสร้างความคิดที่ประกอบด้วยโครงสร้างความคิดที่เป็นสากล ในฐานะที่เป็นมนุษย์ และโครงสร้างความคิดที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละวัฒนธรรม พฤติกรรมบางพฤติกรรมในนิทานเป็นพฤติกรรมเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนลักษณะบางประการของวัฒนธรรมนั้นที่แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น เช่น ในนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ของไทยมีพฤติกรรมการอิจฉาริษยา ซึ่งไม่พบในนิทานรัสเซีย เป็นต้น การศึกษาโครงสร้างนิทานจึงเป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่ชี้เห็นว่านิทานกับวัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

        บทที่ ๕ ทฤษฎีโครงสร้างตำนาน ของ โคลด เลวี่-สเตราส์ (Claude Lévi-Strauss) เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งของนักคิดสายโครงสร้างนิยม ประเด็นสำคัญของทฤษฎีคือการตีความสารจากตำนานปรัมปราเพื่อพินิจว่าบรรพชนพยายามจะบอกอะไรแก่คนรุ่นหลัง โดยการถอดรหัสภาษาที่เป็นสัญลักษณ์ การถอดรหัสดังกล่าวจะทำได้ต่อเมื่อเข้าใจระบบคิดของชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีโครงสร้างความคิดแบบคู่ตรงข้าม (binary system) ผู้เขียนแสดงความเห็นว่า ทฤษฎีนี้มีคุณูปการยิ่งใหญ่ที่ช่วยให้คนทั้งหลายได้เห็นว่าสิ่งที่ดูงมงาย ไร้ระเบียบ ไร้เหตุผลอย่างนิทานปรัมปรา แท้จริงแล้วมีระบบ ระเบียบ และเหตุผลของตนเอง

        บทที่ ๖ กล่าวถึง ทฤษฎีบทบาทหน้าที่ (Functionalism) ซึ่งแตกต่างจากบทที่ผ่าน ๆ มาในแง่ของการเป็นทฤษฎีที่หันมาให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์บริบท (context) ทางสังคมของนิทานมากกว่าเน้นวิเคราะห์ตัวบท (text) ทฤษฎีนี้เสนอว่าการศึกษาวัฒนธรรมที่เป็นคติชนควรให้ความสนใจบริบททางสังคมเพื่อให้เห็นความสำคัญของข้อมูลคติชนในฐานะที่ช่วยให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะหน้าที่ตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ คติชนที่นำมาวิเคราะห์นอกจากจะเป็นกลุ่มเรื่องเล่าพื้นบ้านแล้ว ยังรวมถึงประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ เพลงและการแสดงพื้นบ้านอีกด้วย

        บทที่ ๗ ซึ่งเป็นบทสุดท้าย ผู้เขียนได้วิเคราะห์กระแสและแนวโน้มความสนใจทางคติชนในปัจจุบัน (๒๕๔๘) ได้แก่ การขยายขอบเขตของคำว่า folk และ lore ไปสู่กลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาวบ้าน แนวโน้มที่สนใจคติชนในฐานะเป็นการแสดงและกระบวนการสื่อความหมาย ที่ทำให้นักคติชนหันมาให้ความสนใจสถานการณ์การใช้คติชนมากกว่าตัวบท และแนวโน้มความสนใจคติชนสมัยใหม่ (modern folklore) ที่สะท้อนให้เห็นทัศนคติของ folk ที่มีวิถีชีวิตในเมืองหรือวิถีชีวิตสมัยใหม่ ลักษณะดังกล่าวมีความสำคัญต่อการทำให้นักคติชนเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมปัจจุบันที่มีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมในอดีตอย่างมาก

        ทฤษฎีคติชนวิทยา: วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน ไม่เพียงนำเสนอวิธีการศึกษาตัวบทตำนาน นิทานพื้นบ้าน ตามหลักวิชาการเท่านั้น ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริบทของคติชนในประเทศไทยและสังคมไทนอกประเทศ อีกทั้งนำเสนอข้อค้นพบใหม่ ๆ หลายประการที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจวัฒนธรรมไท-ไทย จึงเป็นตำราเล่มสำคัญอีกเล่มหนึ่งในการเรียนการสอนวิชาคติชนวิทยาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และเป็นคู่มือในการศึกษาวิจัยข้อมูลคติชนแก่นักวิชาการมาจนปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ตำราเล่มนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาวงการคติชนวิทยาของไทย ทั้งในแง่การสร้างความตื่นตัวในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล การทำให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เห็นความน่าสนใจของวิชาคติชนวิทยาและทยอยบรรจุเป็นรายวิชาหนึ่งของหลักสูตร รวมถึงเปิดสอนวิชาคติชนวิทยาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ส่งผลให้มีนักคติชนไทยเพิ่มมากขึ้น สำหรับผู้สนใจทั่วไป หนังสือนี้จะช่วยเปิดมุมมองให้เห็นความหมายและหน้าที่อันสำคัญของนิทานประเภทต่าง ๆ และช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างดียิ่ง

 

ผู้ปริทัศน์: ชลธิชา นิสัยสัตย์
นิสิตอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต 
สาขาคติชนวิทยา
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย