

เพลงปฏิพากย์: การศึกษาในเชิงวรรณคดีวิเคราะห์
สุกัญญา สุจฉายา
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๒๓
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาและรวบรวมเพลงปฏิพากย์ของภาคกลางไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
๒. เพื่อศึกษาพัฒนาการของเพลงปฏิพากย์โดยทั่วไป
๓. เพื่อศึกษาบทบาทของเพลงปฏิพากย์ในฐานะที่เป็นภาพสะท้อนสังคมไทยในอดีต โดยเฉพาะมุ่งศึกษาบทบาทในการนำเสนอเรื่องเพศที่ปรากฏในเพลงปฏิพากย์
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะรวบรวมเพลงปฏิพากย์ภาคกลางไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อศึกษาพัฒนาการของเพลงปฏิพากย์และบทบาทของเพลงปฏิพากย์ โดยเฉพาะมุ่งศึกษาบทบาทในการนำเสนอเรื่องเพศที่ปรากฏในเพลงชนิดนี้โดยอาศัยแนวพินิจในเชิงประวัติ สังคมวิทยาและจิตวิเคราะห์
การเก็บข้อมูลภาคสนามเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ผลจากการเก็บข้อมูลผู้วิจัยสามารถรวบรวมเพลงปฏิพากย์ได้ ๒๖ ชนิด รวมทั้งสิ้น ๖๗ บท
ผลจากการวิจัยแสดงว่าเพลงปฏิพากย์ในระยะแรกน่าจะเป็นเพลงปฏิพากย์สั้นที่เกิดจากการรวมหมู่เพื่อประโยชน์ในการทำงานร่วมกันและเพื่อเกี้ยวพาราสีกัน ต่อมาจึงมีการผูกโครงเรื่องให้ซับซ้อนขึ้น และมีการสมมติบทบาททำให้มีลักษณะเป็นการแสดงจึงเกิดเพลงปฏิพากย์ยาว และท้ายสุดได้พัฒนากลายเป็นมหรสพประเภทหนึ่งที่แยกคนร้องออกจากกลุ่มคนฟัง
เพลงปฏิพากย์เคยมีบทบาทอย่างยิ่งต่อสังคมไทยในอดีต คือ ให้ความบันเทิง สร้างความสามัคคีให้กลุ่ม ให้การศึกษา แนวทางการดำเนินชีวิต ถ่ายทอดค่านิยมในสังคม บันทึกเหตุการณ์ วิพากษ์วิจารณ์สังคม รวมทั้งทำหน้าที่ระบายความเก็บกดให้สังคมโดยแสดงออกในรูปของการพูดถึงเรื่องเพศ และการเสนอเนื้อหาสนับสนุนการละเมิดกรอบประเพณีของสังคม
การที่เพลงปฏิพากย์ของไทยเต็มไปด้วยศัพท์สังวาสและโวหารเรื่องเพศเป็นเพราะอิทธิพลของคติความเชื่อดั้งเดิมว่าเพศเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของพืชและมนุษย์ ทั้งนี้อาจจะได้รับอิทธิพลของลัทธิฮินดู-ตันตระที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในความเชื่อของคนไทย ความเชื่อต่าง ๆ เหล่านี้อาจพินิจในเชิงจิตวิเคราะห์ได้ว่าเป็นวิธีการหาทางระบายออกของสัญชาตญาณทางเพศแทบทั้งสิ้น เพลงปฏิพากย์จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการระบายความก้าวร้าวที่เก็บกดจากการถูกจำกัดสัญญาณทางเพศ และเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบกฎเกณฑ์ของสังคม
ในสังคมไทยปัจจุบันเพลงปฏิพากย์ได้ลดบทบาทลงเกือบหมด ทั้งนี้เพราะอิทธิพลของระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตราซึ่งเป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตะวันตกที่ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปในทุกด้าน สื่อมวลชนมีส่วนทำให้เพลงปฏิพากย์ลดบทบาทลงคงเหลือไว้เพียงบทบาทในการให้ความบันเทิงแก่กลุ่มรุ่นคนมีอายุซึ่งนับวันมีแต่จะสูญสิ้น เพราะขาดการสืบทอดโดยคนหนุ่มสาว
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/27122
ภาพเปิดเรื่อง : คณะเพลงสระกระเทียม เล่นเพลงพวงมาลัย ณ ศูนย์สังคีต ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
วันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓ จากซ้ายพ่อละมุน พันพ่วง พ่อเปราะ อรชร
แม่ขุนทอง สุขประเสริฐ และพ่อช่ำ (ไม่ทราบนามสกุล)
ที่มา : เอนก นาวิกมูล (เอนก นาวิกมูล ศ๔พค๒๕๒๒ ม๓๑๒) อ้างถึงใน Narumon Boonyanit. (๒๕๕๗, ๓๑ กรกฎาคม). “เพลงพื้นบ้านนครปฐม.” เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. เข้าถึงเมื่อ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๔. เข้าถึงจาก snc.lib.su.ac.th/westweb/?p=113.